การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดปกติ

การรักษาหัวใจเต้นผิดปกติ

การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยบางคนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หลักการรักษาโดยทั่วไปได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้ยาควบคุมการเต้นหัวใจ การเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจสม่ำเสมอ การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้ การจี้รักษา หรือ การผ่าตัดหัวใจ
 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • เมื่อตรวจคลื่นหัวใจ หากหัวใจเต้นผิดปกติสัมพันธ์กับกิจกรรมบางอย่าง ก็ควรจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นๆ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ควรงดสูบบุหรี่
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรจะลดหรืองดเลิกเครื่องดื่ม หรือ อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และ ยาบางชนิด เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติมากขึ้นหากได้รับคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารกระตุ้น พบได้บ่อยในยาแก้ไอและยาแก้หวัด ยาเหล่านี้มีส่วนประกอบของสารกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ควรอ่านฉลากยาและปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรก่อน

 
การให้ยาควบคุมหัวใจเต้นผิดปกติ

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยควบคุมการเต้นหัวใจ ยาเหล่านี้ปรับจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือ ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้ปกติ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูง แพทย์จะแนะนำให้ทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Aspirin, Clopidogrel (Plavix), Warfarin, Dabigatran (Pradaxa), Rivaroxaban (Xarelto), Apixaban (Eliquis)


การเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้า (Electrical cardioversion)

ถ้าหากการใช้ยาไม่สามารถควบคุมหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะในภาวะหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว การเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นหัตถการที่ใช้เวลาสั้น ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบและติดแผ่นเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หน้าอก ต่อจากนั้นจะถูกช็อคด้วยไฟฟ้าผ่านทางแผ่นที่หน้าอก จังหวะการเต้นหัวใจจะกลับมาปกติ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือ จำเหตุการณ์ได้

 

การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้นและสม่ำเสมอ (pacemaker)

กรณีที่มีความผิดปกติที่ปุ่มกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้า SA node หรือ การนำไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนไปยังห้องล่างช้าลง หรือถูกขัดขวาง การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจสม่ำเสมอจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การผ่าตัดฝังอุปกรณ์นี้ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ อุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วย แบตเตอร์รีและระบบคอมพิวเตอร์ (pulse generator) และลวดนำไฟฟ้า (leads) อุปกรณ์นี้จะส่งคลื่นกระแสไฟฟ้าทำให้หัวใจห้องบนและล่างทำงานสัมพันธ์กันและด้วยอัตราการเต้นที่เหมาะสม

 

การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นเร็วของหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้า (Implantable cardioverter defibrillator – ICD)

อุปกรณ์ชนิดนี้สามารถควบคุมอัตราการเต้นหัวใจให้เป็นปกติแล้วยังสามารถเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้า ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หรือ มีการเต้นผิดปกติของหัวใจห้องล่างซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนำนำให้ผ่าตัดฝังอุปกรณ์นี้เพื่อเป็นการช่วยชีวิต การผ่าตัดฝังอุปกรณ์นี้ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ อุปกรณ์นี้จะเฝ้ามองทุกๆการเต้นของหัวใจ หากมีหัวใจเต้นผิดปกติจากห้องล่างซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต อุปกรณ์นี้จะช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้า อุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วย แบตเตอร์รีและระบบคอมพิวเตอร์ (pulse generator) และลวดนำไฟฟ้า (leads)
 

การจี้รักษา (Catheter ablation)

การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุโดยใช้สายสวนพิเศษ เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีสำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหลายประเภทเพราะมีโอกาสหายขาดโดยไม่ต้องกินยา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใส่สายสวนพิเศษสอดผ่านหลอดเลือดดำที่ขาหนีบภายใต้การระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อหาตำแหน่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อพบตำแหน่งที่มีคลื่นกระแสไฟฟ้าผิดปกติ แพทย์จะส่งพลังงานความร้อนผ่านทางสายสวนเพื่อไปกำจัดจุดกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกตนั้น

การผ่าตัดหัวใจ

การผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดปกติอาจจำเป็นในบางกรณี เช่น โรคหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว นอกจากทำลายจุดกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้าด้วยคลื่นวิทยุที่มีความถี่สูง (Radiofrequency ablation) หรือทำลายด้วยความเย็น (Cryotherapy) แพทย์ผ่าตัดหัวใจสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ก่อกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีการใช้มีดผ่าตัดกรีดทำลายเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับทางเดินของคลื่นกระแสไฟฟ้า (MAZE procedure) เป็นวิธีการที่จะต้องทำการผ่าตัดเปิดหัวใจ และสงวนไว้เฉพาะรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นเท่านั้น ในปัจจุบันจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยจะต้องผ่าตัดรักษาโรคหัวใจอย่างอื่นอยู่แล้วและมีภาวะโรคหัวใจห้องบนเต้นพริ้วร่วมด้วย

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ชั้น 2 อาคาร H โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ