หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การทำงานของหัวใจควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า หากระบบไฟฟ้าขัดข้องจะทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติเป็นความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจจะช้าลงหรือเร็วขึ้น หรือจังหวะการเต้นของหัวใจ
ในสภาวะปกติระบบไฟฟ้าจะควบคุมจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ หัวใจมี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องขวาบน ห้องขวาล่าง ห้องซ้ายบน และห้องซ้ายล่าง ระหว่างห้องบนและล่างจะมีลิ้นหัวใจกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจห้องขวาจะรับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำกลับจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้วส่งเลือดไปฟอกที่ปอด หัวใจห้องซ้ายรับเลือดที่มีออกซิเจนสูงกลับจากปอดเพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การนำไฟฟ้า 1 ครั้ง ทำให้หัวใจเต้น 1 ครั้ง คลื่นกระแสไฟฟ้าจากห้องบนสู่ห้องล่างทำให้หัวใจห้องบนและล่างทำงานสัมพันธ์กัน
จุดกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ผนังห้องขวาบน (Sinus Node หรือ Sinoatrial Node, SA Node) SA Node จะผลิตคลื่นกระแสไฟฟ้าส่งมากระตุ้นหัวใจห้องบนทั้งสองห้องผลักดันเลือดลงมาที่ห้องล่าง หัวใจห้องล่างทั้งสองห้องก็รับเลือดจากห้องบน ต่อจากนี้สัญญาณไฟฟ้าจะมากระตุ้นปุ่มกำเนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง (Atrioventricular node, AV node) ให้ชักนำกระแสไฟฟ้าผ่านเครือข่ายพิเศษไปสู่ห้องล่างทั้งสองห้อง หัวใจห้องขวาล่างจะผลักดันเลือดไปฟอกที่ปอด ส่วนหัวใจห้องล่างซ้ายจะผลักดันเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานของหัวใจให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน หากเกิดปัญหาในตำแหน่งใดในระบบไฟฟ้าจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดปกติหากสามารถได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ