การตรวจด้วยเตียงยกระดับ (Tilt Table Test)

diagnosis
Noninvasive Diagnostic Service
Tilt Table Test เป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะเป็นลมหมดสติจาก Neurally Mediated Syncope ขั้นตอนการตรวจ ผู้ป่วยจะต้องนอนบนเตียงตรวจโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถปรับหมุนเตียงขึ้นลงได้เป็นองศาและจะมีสายรัดบริเวณลำตัว
table of contents

อาการเป็นลมหรือหมดสติมีความสำคัญอย่างไรและมีสาเหตุจากอะไร

Tilt Table Test คืออะไร 

การเตรียมตัวก่อนการทำ Tilt Table Test ต้องทำอย่างไร

ขั้นตอนการทำ Tilt Table Test และระยะเวลาในการทำ

ความเสี่ยงจากการทำ Tilt Table Test มีอะไรบ้าง

ข้อมูลที่เราจะได้จากการทำ Tilt Table Test

อาการเป็นลมหรือหมดสติมีความสำคัญอย่างไรและมีสาเหตุจากอะไร

อาการเป็นลม (Syncope) เกิดขึ้นเนื่องจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ มีสาเหตุมาจากทั้งโรคหัวใจและสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคหัวใจ ความสำคัญของอาการเป็นลมคือ การเป็นลมหมดสติอาจนำมาซึ่งอันตรายหรืออุบัติเหตุทั้งกับตัวเองและผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นลมหมดสติขณะที่ขับรถอยู่ อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุต่อส่วนรวมหรือคนรอบข้าง ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมหมดสติควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสืบค้นหาสาเหตุและรับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ นอกจากนี้สาเหตุที่เกิดจากโรคหัวใจบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือบางชนิดอาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา

สาเหตุของอาการเป็นลมที่พบได้บ่อยที่สุดอันหนึ่งในเวชปฏิบัติ คือ ภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ (Neurally Mediated Syncope)

ซึ่งการวินิจฉัยภาวะนี้ต้องใช้การซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการใช้การตรวจ Tilt Table Test ร่วมประกอบในการวินิจฉัย

Tilt Table Test คืออะไร 

Tilt Table Test เป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะเป็นลมหมดสติจาก Neurally Mediated Syncope  

  • ขั้นตอนการตรวจ ผู้ป่วยจะต้องนอนบนเตียงตรวจโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถปรับหมุนเตียงขึ้นลงได้เป็นองศาและจะมีสายรัดบริเวณลำตัว
  • การตรวจนี้จะทำในห้องที่เงียบสงบและค่อนข้างมืดระหว่างที่ตรวจจะมีการบันทึกความดันโลหิตและชีพจรตลอดระยะเวลาการตรวจ
  • โดยจะมีแบบขั้นตอน (Protocol) ที่ใช้ในการตรวจที่ชัดเจน สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอาจต้องมีการให้ยาเพื่อกระตุ้นและดูการตอบสนองของความดันโลหิตและชีพจร

Tilt Table Test, การตรวจด้วยเตียงยกระดับ

การเตรียมตัวก่อนการทำ Tilt Table Test ต้องทำอย่างไร

  • งดน้ำและอาหารก่อนทำการทดสอบเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง หากท่านต้องทำการตรวจในช่วงเช้า คุณจะต้องงดน้ำและอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืน แต่ถ้าหากท่านมีคิวในการตรวจช่วงบ่าย คุณสามารถที่จะทานอาหารมื้อเช้าได้ แต่ต้องไม่ทานมื้อหนักจนเกินไป
  • ถ้าคุณมียาที่ต้องรับประทานประจำหรือมีโรคประจำตัวกรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการตรวจ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนเวลาการทานยา หรือนัดหมายเวลาตรวจให้เหมาะสมที่สุด
  • ให้พาญาติมากับผู้ป่วยด้วย หลังการทดสอบผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการข้างเคียงจากการทดสอบได้

ขั้นตอนการทำ Tilt Table Test และระยะเวลาในการทำ

ขั้นตอนที่ 1 เป็นการดูการตอบสนองของร่างกายขณะเปลี่ยนแปลงท่าทาง 

  • เริ่มต้นจากการให้ผู้ตรวจนอนอยู่บนเตียงตรวจ จากนั้นจะมีสายรัดที่บริเวณเอวและเข่าเพื่อให้คุณอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม แผ่น Electrode จะถูกติดไว้ที่บริเวณหน้าอกเพื่อทำการบันทึกกราฟไฟฟ้าหัวใจใส่ Cuff Pressure สำหรับวัดความดันโลหิต และจะเปิดเส้นเลือดไว้ที่แขนข้างใดข้างหนึ่งสำหรับไว้ให้ยาในกรณีฉุกเฉิน (จะนำออกให้เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ)
  • เจ้าหน้าที่จะหมุนเตียงตั้งขึ้น 30° หลังจากนั้นจะทำการวัดความดันโลหิตและจับชีพจร
  • หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที เจ้าหน้าที่จะหมุนเตียงให้ชันขึ้นเป็น 70°  และจะทำการบันทึกความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะ จนกระทั่งครบ 15 – 45 นาที ในระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
  • ถ้าความดันโลหิตตกลงในช่วงที่ตรวจเจ้าหน้าที่จะรีบหมุนเตียงลงให้อยู่ในแนวราบและหยุดทำการตรวจทันทีและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจในขั้นตอนถัดไป
  • ถ้าความดันโลหิตของคุณไม่ตกลงจนกระทั่งครบ 45 นาที เจ้าหน้าที่จะหมุนเตียงลงและเริ่มการตรวจขั้นตอนที่ 2 ต่อ

ขั้นตอนที่ 2  เป็นการดูการตอบสนองของร่างกายหลังจากให้ยา Nitroglycerine 

  • เจ้าหน้าที่จะให้อมยา Nitroglycerine
  • หลังอมยาแพทย์สังเกตอาการและบันทึกสัญญาณชีพทุก 5 นาทีต่อ ถ้ามีอาการหน้ามืดเป็นลม แพทย์จะให้หยุดการทดสอบพร้อมทั้งปรับระดับเตียงนอนราบและบันทึกสัญญาณชีพขณะมีอาการ ถ้าไม่มีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมแพทย์จะจัดสัญญาณชีพทุก 2 นาที จนครบ 15 – 20  นาทีจึงหยุดการทดสอบ
  • หลังทดสอบเสร็จรอให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้วแพทย์จะอธิบายผลการตรวจพร้อมอธิบายวิธีการปฏิบัติตัว 

การตรวจนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 60 – 90 นาที ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการทดสอบของแต่ละคน

ความเสี่ยงจากการทำ Tilt Table Test มีอะไรบ้าง

การตรวจ Tilt Table Test เป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลมหมดสติได้ในระหว่างที่ทำการตรวจ อาการนี้อาจเป็นช่วงสั้น ๆ และผู้ป่วยมักกลับมาดีขึ้นเองหลังจากที่ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนราบ นอกจากนี้คุณอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ มวนท้องได้หลังจากการตรวจนี้ ถ้าท่านมีอาการเราจะให้ท่านนอนพักสังเกตอาการอยู่ที่ห้องอีก 30 – 60 นาที เพื่อทำการตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะ ถ้าคุณมีอาการหมดสติไประหว่างที่ทำการตรวจ  คุณจะต้องพักสังเกตอาการอยู่ที่ห้องสังเกตอาการต่อจนอาการคงที่และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรที่จะมีญาติเป็นผู้ขับรถให้

ข้อมูลที่เราจะได้จากการทำ Tilt Table Test

  • ถ้าคุณไม่มีอาการผิดปกติและความดันโลหิตไม่ตกลงระหว่างทำการทดสอบแสดงว่าผลการทดสอบเป็นปกติ
  • ถ้าคุณมีอาการผิดปกติหรือความดันโลหิตตกลงหรือชีพจรเต้นช้าลงที่เข้าเกณฑ์การวินิฉัย แสดงว่าผลการทดสอบผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องแนวทางการรักษาต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com