ตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram)

diagnosis
table of contents
หลอดเลือดหัวใจตีบตันคืออะไร
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจคืออะไร
ขั้นตอนการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร
เทคนิคการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจใช้เวลานานเท่าไร
เตรียมตัวก่อนตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจอย่างไร
การปฏิบัติตัวหลังตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจทำอย่างไร
ความเสี่ยงจากการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ
ข้อดีของการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ
โรงพยาบาลรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ
หลอดเลือดหัวใจตีบตันคืออะไร
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ โรคที่พบมีการตีบแคบลงของหลอดเลือดแดงหัวใจโคโรนารี เกิดจากคราบไขมัน คราบน้ำตาล และสารต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด บางรายที่คราบหรือตะกรันที่เกาะอยู่มีการหลุดออกมาอุดหลอดเลือดโดยเฉียบพลัน ทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีอาการแน่นจุกอกที่รุนแรงหรือเสียชีวิตทันทีจากหัวใจหยุดเต้นหรือเต้นผิดจังหวะที่เรียกกันว่า Heart Attack หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน (Acute Coronay Syndrome) เมื่อการอักเสบที่หลอดเลือดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นเวลานานประมาณ 2 – 5 ปีก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นคราบหินปูน ไขมัน และพังผืดเพิ่มขึ้นมากจนทำให้รูด้านในของหลอดเลือดตีบแคบลงและทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง เมื่อหัวใจที่ทำหน้าที่คล้ายปั๊มน้ำคอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้รับเลือด สารอาหาร และออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานลดลง เลือดที่ถูกปั๊มและสูบฉีดจากหัวใจไปยังอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ทำให้มีอาการเหนื่อย หัวใจล้มเหลว เมื่อหลอดเลือดแดงหัวใจเกิดการตีบหรือตัน ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็ว
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจคืออะไร
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG – Coronary Angiogrphy) คือ การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดบริเวณขาหนีบหรือข้อมือผ่านไปยังตำแหน่งหลอดเลือดหัวใจและทำการฉีดสารทึบรังสีหรือที่เรียกว่าฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจโดยตรง เพื่อแสดงรอยโรคของเส้นเลือดหัวใจว่ามีการตีบตัน โดยจะมีการบันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหวขณะฉีดสีหัวใจ ทำให้อายุรแพทย์หัวใจผู้ทำหัตถการสวนหัวใจสามารถพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไป เช่น การขยายด้วยบอลลูน การใส่ขดลวดค้ำยัน หรือปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อทำการรผ่าตัดบายพาส รวมทั้งการรับประทานยาและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร
- ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียง X-ray และมีการผูกเข็มขัดนิรภัยที่ลำตัวและขา
- ติด Electrodes บริเวณหน้าอก แขน หรือขา ติดเครื่องวัดและติดตามความดันที่แขนตลอดเวลา รวมถึงตัววัดระดับออกซิเจนที่นิ้วมือ
- เครื่อง X-ray จะขยับไปมาและรอบ ๆ เตียงและบริเวณหน้าอกไปจนถึงศีรษะของผู้ป่วย
- เปิดเส้นเลือดดำที่แขนเพื่อให้น้ำเกลือ
- ส่วนใหญ่ไม่มีการวางยาสลบ ผู้ป่วยจะตื่นตลอดเวลา ทำตามที่สั่งได้ อาจใช้ยาเพื่อให้ผ่อนคลายระหว่างการตรวจ
- สำหรับในรายที่มีความวิตกกังวลสูง แพทย์จะพิจารณาการให้ยาเพื่อลดความวิตกกังวลหรือยานอนหลับเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยในการทำหัตถการ
- ผู้ป่วยอาจถูกขอให้หายใจเข้าออกลึก ๆ กลั้นหายใจ ไอบางครั้งขณะทำการตรวจรักษา
เทคนิคการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร
- อาจใช้สารห้ามการแข็งตัวของเลือดในระหว่างการตรวจและทำหัตถการ
- อาจโกนขนที่บริเวณขาหนีบหรือข้อมือเล็กน้อย ทำความสะอาดและทำการเช็ดล้างเชื้อ รวมไปถึงให้ยาชาเฉพาะที่ที่ขาหนีบหรือข้อมือ
- หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบหรือข้อมือจะถูกใส่สายสวน (Catheter) โดยใช้เข็มแทงเข้าไปที่เส้นเลือดและนำท่อพลาสติก (Sheath) ใส่คาไว้ที่หลอดเลือดระหว่างทำหัตถการ ขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะไม่เจ็บหรือรู้สึกเล็กน้อย หากเจ็บต้องแจ้งแพทย์ทันที
- สารทึบรังสีจะถูกฉีดเข้าไปในหลอดเลือดผ่านท่อนำ (Catheter) ผู้รับการตรวจอาจรู้สึกออกร้อนวูบวาบเล็กน้อยเมื่อมีสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกาย โดยจะปรากฏภาพสายสวนและหลอดเลือดชัดเจนบนจอ X-ray และแพทย์ทำการวิเคราะห์ผล
- วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ขึ้นอยู่กับผลการตรวจ โดยในระหว่างการตรวจอาจมีการใส่สายเข้าไปเพิ่มเติมและจะมีการให้ข้อมูลก่อนที่จะทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนหรือใส่ขดลวดเข้าไป ในขณะทำการขยายบอลลลูนอาจจะรู้สึกแน่นอกบ้าง
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจใช้เวลานานเท่าไร
โดยทั่วไปการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อต้องได้รับการขยายหลอดเลือดที่ตีบด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันใช้เวลาอีกประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หรือน้อยกว่าขึ้นกับรอยโรคที่ตีบตันว่าสามารถทำได้ง่ายหรือยาก อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาจใช้เวลาในการตรวจมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีการทำหัตถกรรมอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้สว่านกรอหัวเพชรในรายที่มีการตีบของหลอดเลือดร่วมกับคราบหินปูนที่หนา เป็นต้น รวมถึงขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนตรวจและการห้ามเลือด หรือสังเกตอาการหลังหัตถการอาจจะเพิ่มระยะเวลาในการตรวจทั้งหมดให้เพิ่มขึ้นได้
เตรียมตัวก่อนตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจอย่างไร
- งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำก่อนการทำหัตถการ 4 – 6 ชั่วโมง ในรายที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ให้จิบน้ำเปล่าได้ งดชา กาแฟ และนำยาทุกชนิดที่รับประทานเป็นประจำมาโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ว่ายาตัวไหนรับประทานต่อหรือยาตัวไหนให้งดรับประทาน ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ว่าต้องใช้อินซูลินในตอนเช้าหรือไม่
- แจ้งแพทย์ผู้ดูแลหากแพ้อาหารทะเลหรือเคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีมาก่อน
การปฏิบัติตัวหลังตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจทำอย่างไร
- หลังตรวจเสร็จเรียบร้อย สาย Sheath และสายสวนจะถูกถอดออกจากขาหนีบหรือข้อมือ มีการกดห้ามเลือดประมาณ 15 – 30 นาทีแล้วใช้ผ้ากอซปิดบริเวณแผลบริเวณขาหนีบและใช้พลาสเตอร์พิเศษปิดทับเพื่อป้องกันเลือดออก สำหรับในรายที่ทำที่ข้อมือจะ ได้รับการใส่สายข้อมือที่มีบอลลูนกดห้ามเลือดหลังนำสายสวนออก
- ผู้รับการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจถูกส่งไปยังห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการและติดตามดูสัญญาณชีพ หากเป็นปกติแพทย์จะให้กลับไปที่ห้องพักผู้ป่วย หลังจากนั้นจะติดตามสัญญาณชีพต่ออีกประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งติดตามดูว่ามีปัญหาเรื่องเลือดออกหรือไม่ ระหว่างนี้จะมีการบันทึกสัญญาณชีพและสังเกตภาวะเลือดออก
- ผู้รับการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจสามารถกลับบ้านได้ประมาณ 24 – 48 ชั่วโมงหลังทำหัตถการถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่ได้ทำหัตถการต่อ บางรายอาจต้องอยู่โรงพยาบาลนานกว่าตามอาการทางคลินิก ความซับซ้อนของหัตถการหรือผลแทรกซ้อนที่ต้องรักษาในบางรายตามดุลยพินิจของอายุรแพทย์หัวใจที่ทำหัตถการ
- หลังทำหัตถการผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อชะล้างสารทึบรังสีออกจากร่างกายและรับประทานอาหารได้เมื่อทุกอย่างปกติและเรียบร้อยดี
- ยาที่รับประทานประจำ แพทย์ที่ดูแลจะแนะนำว่าจะให้เริ่มทานได้เมื่อไร
- รอยเข็มบริเวณขาหนีบและข้อมืออาจมีรอยเขียวช้ำและเป็นตุ่มนูนเล็กน้อย ทำแผลและปิดแผลไว้ประมาณ 2 – 3 วันด้วยผ้ากอซและแผ่นกันน้ำ การอาบน้ำทำได้หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้เดินได้ อาจเจ็บเล็กน้อยหลังทำหัตถการประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นสามารถกลับไปทำงานได้
- ห้ามออกกำลังกายหนักและยกของหนักหลังการทำหัตถการประมาณ 1 – 2 สัปดาห์
ความเสี่ยงจากการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ
ความเสี่ยงจากการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG) พบได้น้อยมาก แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรกลับมาพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจทันที
- เลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือดอันใหม่หรือขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณที่ทำการเจาะเส้นเลือด
- ปวดมากขึ้น ขัดหรือเคืองบริเวณที่ทำหัตถการ
- อักเสบหรือติดเชื้อ เช่น แดงขึ้น ร้อนขึ้น มีสารน้ำออกมาจากบริเวณที่ทำหัตถการ มีไข้ขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของสีและอุณหภูมิของขาข้างที่ทำ เช่น เย็นขึ้น เขียวขึ้น หรือม่วงมากขึ้น
- หน้ามืด เป็นลม อ่อนแรง
- อาการแน่นเจ็บหน้าอก หายใจขัด หายใจลำบากมากขึ้น
- ถ้าบริเวณที่ทำหัตถการมีเลือดออกหรือบวมแดงมากขึ้นให้กดบริเวณแผลที่ทำแล้วติดต่อแผนกฉุกเฉินโดยด่วน
ข้อดีของการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ
- ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือคราบตะกรันที่หัวใจ
- รู้ตำแหน่งการตีบของเส้นเลือดและความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด
- เช็กผลการใส่ขดลวดและบอลลูน ติดตามผลการทำหัตถการครั้งที่ผ่านมา
- ดูการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจ
- ทำหัตถการ บอลลูน และใส่ขดลวดหลังฉีดสีได้ทันที
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ที่ทำการตรวจและผู้ป่วย รวมถึงญาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแนะนำการรักษาขั้นต่อไป และทำได้ทันทีหลังการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเสร็จเรียบร้อย
โรงพยาบาลรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาทุกความผิดปกติของหัวใจในทุกมิติ โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงยืนยาว
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ ราคาเริ่มต้นที่ 9,900 บาท
