การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก

treatment
Cardiovascular Surgery
การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy) ใช้รักษาในกรณีที่มีโรคที่หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบมาก หลังผ่าตัดเลือดจะไหลไปเลี้ยงสมองสะดวกขึ้น และลดการเกิดลิ่มเลือดที่จะหลุดไปอุดตันหลอดเลือดภายในสมอง การผ่าตัดแบบนี้มักต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน
table of contents

โรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Disease) และอัมพาต (Stroke)

การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy)

ทางเลือกการรักษาอื่น

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงคาโรติด

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัด

การดูแลหลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก

ความเสี่ยงของการผ่าตัด 

การใช้ชีวิตหลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก

การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy) ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

โรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Disease) และอัมพาต (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease) หรือโรคอัมพฤกษ์  / อัมพาต (Stroke)  เป็นสาเหตุหลักโรคหนึ่งของการ ตายในประชากรทั่วโลก โรคหลอดเลือดสมองนั้น จัดอยู่ในกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดเสื่อมของร่างกาย เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular Diseases) แตกต่างกันที่อวัยวะที่หลอดเลือดที่นําเลือดไปเลี้ยง คือ ที่สมองหรือหัวใจ แต่มาจากสาเหตุเดียวกัน ในประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease) หรือโรคอัมพฤกษ์ / อัมพาต (Stroke)  เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ในประชากรไทยและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Year) ที่สำคัญอันดับที่ 2 ทั้งในชายและหญิง

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Diseases) ทำให้เกิดภาวะอัมพาต (Stroke) คือ ภาวะที่เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมอง ทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก ผู้ป่วยจะมีอาการตามแต่บริเวณที่สมองขาดเลือด เช่น มีอาการอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการร่วมกับตามองไม่เห็น หรืออาจจะพูดไม่ได้  บางครั้งการไหลเวียนของเลือดหยุดไปเป็นเวลาสั้น ๆ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือวัน แล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) แต่ถ้าความเสียหายร้ายแรงกว่านั้น มีอาการเป็นนานมากกว่า 1 วัน หรือเป็นถาวร เราเรียกภาวะนี้ว่า อัมพาต (Stroke) และผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาบำบัดอย่างดีจึงจะกลับช่วยเหลือตนเองได้ใกล้เคียงเดิม
โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม คือ

  1. โรคสมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Cerebrovascular Disease) คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด
  2. โรคเลือดออกในสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Cerebrovascular Disease)

ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ระดับไขมันในเลือดสูง ประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกําลังกาย ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สูบบุหรี่เป็นประจํา
โรคสมองขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันนี้อาจจะมีการตีบตันของหลอดเลือดภายในสมองเอง หรืออาจเกิดจากมีการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่คอที่ทำหน้าที่ส่งเลือดจากหัวใจไปสู่สมอง เราเรียกหลอดเลือดแดงนี้ว่า หลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery)

หลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery) เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร อยู่บริเวณคอด้านข้างทั้ง 2 ข้าง คือซ้ายและขวา ถ้าหลอดเลือดนี้ตีบตัน หรือมีลิ่มเลือดหลุดออกจากหลอดเลือดนี้หลุดไปยังหลอดเลือดส่วนปลายจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีหรือไม่ได้เลย ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือด มีอาการอัมพาต (Stroke) ตามมา

การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy)

การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy) ใช้รักษาในกรณีที่มีโรคที่หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบมาก ในการผ่าตัดแพทย์อาจให้ดมยาสลบหรือให้ยาชาเฉพาะที่แล้วผ่าตัดที่คอบริเวณที่หลอดเลือดอยู่ ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบทุกราย จึงไม่ต้องกังวลและไม่มีความเจ็บปวด หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะผ่าตัดเปิดหลอดเลือดเลาะเอาตะกรันที่อุดตันเกาะพอกด้านในของหลอดเลือดออก แล้วก็เย็บหลอดเลือดปิด ปล่อยให้เลือดไหลตามปกติ หลังผ่าตัดเลือดจะไหลไปเลี้ยงสมองสะดวกขึ้น และลดการเกิดลิ่มเลือดที่จะหลุดไปอุดตันหลอดเลือดภายในสมอง  การผ่าตัดแบบนี้มักต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน

ทางเลือกการรักษาอื่น

ปัจจุบันการรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery) ตีบ ด้วยการผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy) ถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานที่ได้ผลดีเยี่ยม ซึ่งถ้าทำในสถาบันที่มีความชำนาญโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อัมพาต (Stroke) จะเกิดต่ำกว่าการรักษาทางเลือก ซึ่งทางเลือกการรักษาอื่น ได้แก่ การขยายและใส่โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Angioplasty and Stenting) ซึ่งเป็นหัตถการในการสอดใส่สายขนาดเล็กนำขดลวดไปถ่างขยายไว้เพื่อให้หลอดเลือดไม่ตีบ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองสะดวกขึ้น แต่ระหว่างการทำหัตถการอาจทำให้เกิดเศษชิ้นตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงหลุดไปตามกระแสเลือดเข้าไปยังระบบหลอดเลือดสมองได้ ทำให้เกิด อัมพาต (Stroke) ได้

แม้ว่าการทำการขยายและใส่โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Angioplasty and Stenting) จะไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัด แต่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อัมพาต (Stroke) จะเกิดขึ้นมากกว่าการรักษาโดยวิธีผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดปลอดภัยมากในมือของศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้

ตะกรัน, หลอดเลือดแดงคาโรติด, ผ่าตัด, โรคหัวใจ

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงคาโรติด

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  (Carotid Doppler Ultrasound) การตรวจหลอดเลือดแดงโดยใช้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomographic  Angiogram: CTA) – ทำได้โดยฉีดสารทึบรังสีเข้าไปใน หลอดเลือดดำ และจะใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจและสร้างภาพของหลอดเลือดแดงที่คอ
  • การตรวจหลอดเลือดแดงโดยการใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography: MRA)
  • การฉีดสีดูหลอดเลือดแดงที่คอ (Carotid Angiogram)  เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปดูในหลอดเลือดแดงโดยตรง

ปัจจุบันใช้วิธีนี้น้อยลง เพราะการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  และการตรวจหลอดเลือดแดงโดยใช้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจหลอดเลือดแดงโดยการใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัด

  • ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองและมีหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบมากกว่า 70%
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางสมอง และมีหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบมากกว่า 70% ควรพิจารณาเป็นรายๆ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดป้องกันการเกิดอัมพาตในอนาคต
  • ผู้ป่วยที่เคยมีโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack: TIA) และมีหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบมากกว่า 70%

การดูแลหลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะย้ายไปห้องอภิบาลผู้ป่วยหัวใจ (Cardiac Care Unit: CCU) ประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายไปห้องส่วนตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับบ้านได้ภายใน 2-4 วัน หลังการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดและ ภาวะอื่นที่ผู้ป่วยอาจจะมีร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเมื่อยคอไม่เกิน 2 สัปดาห์ พยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 1 สัปดาห์

ความเสี่ยงของการผ่าตัด 

  • มีโอกาสเกิดอัมพาตน้อย คือ ประมาณ 1%
  • ปวดหรือชาที่บริเวณผ่าตัดชั่วคราว  สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด
  • มีเลือดออกที่บริเวณผ่าตัด
  • แผล ติดเชื้อ มีโอกาสเกิดน้อยมาก สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
  • เส้นประสาทบริเวณคอเสียหาย ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยมากที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อาจทำให้เกิดเสียงแหบ และความอ่อนแรงหรือชาที่ด้านข้างของใบหน้า แต่มักจะ เป็นแบบชั่วคราว
  • มีโอกาสที่หลอดเลือดแดงจะตีบอีกครั้งหลังผ่าตัด
  • หัวใจวายเนื่องจากผู้ป่วยอาจมีโรคหัวใจร่วมด้วย

 
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก ได้แก่

  • อายุมาก
  • สูบบุหรี่
  • หากเคยมีอาการโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack: TIA) ความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค การฟื้นตัว และเวลาที่เกิดขึ้น
  • มีการอุดตันในหลอดเลือดแดงในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • มีสภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน

การใช้ชีวิตหลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก

หลังผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก แพทย์จะแนะนำให้เริ่มต้นโปรแกรมการออกกำลังกายและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอื่น ๆ เช่นการเลิกสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง  หรือเบาหวาน

การผ่าตัดเอาตะกรันที่พอกในหลอดเลือดแดงคาโรติดออก (Carotid Endarterectomy) ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดคาโรติดตีบที่เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ 117 ราย อายุเฉลี่ย 69 ± 8.5 ปี เป็นเพศชายประมาณ 80% ผู้ป่วยประมาณ 29% มีอาการของอัมพาตมาก่อน และประมาณ 15% มีอาการของโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ ผู้ป่วยที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน แต่หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองคาโรติดตีบมากจนสมควรได้รับการผ่าตัดมี 19%  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (78%) มีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากกว่า 2 ความเสี่ยง ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง (86%) และไขมันในเลือดผิดปกติ (69%)

17% ของผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดที่คอพร้อมกับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

ผลการผ่าตัดอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังจากการผ่าตัดหลอดเลือดที่คอคาโรติดตีบ ถ้าผ่าตัดหลอดเลือดที่คอคาโรติดอย่างเดียว อัตราการเกิดอัมพาตหลังผ่าตัด 0.85% ไม่พบผู้ป่วยที่เส้นประสาทเกิดความเสียหายหลังผ่าตัด อัตราการติดเชื้อ 0% การติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดไม่พบการเกิดเป็นอัมพาตซ้ำอีกภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

ตะกรัน, หลอดเลือดแดงคาโรติด, ผ่าตัด, โรคหัวใจ

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com