การรักษาโรคหัวใจเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation)
treatment
table of contents
หัวใจเต้นพริ้วคืออะไร
การแบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
อาการของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
สาเหตุและกลไกการเกิดของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
ผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจเต้นระริก
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้ว
การรักษาโรคหัวใจเต้นพริ้ว
หัวใจเต้นพริ้วคืออะไร
โรคหัวใจชนิดหนึ่งที่หัวใจห้องบนเต้นพริ้ว ไม่ผลักดันเลือดลงมาห้องล่างตามปกติ และมักจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ ในคนปกติอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที และเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ หัวใจห้องบนและล่างทำงานสัมพันธ์กัน อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างในภาวะนี้อาจต่ำกว่าปกติ อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือ เร็วผิดปกติ ในภาวะนี้หัวใจห้องบนและล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน เราทุกคนสามารถวัดการเต้นของหัวใจได้จากการจับชีพจรที่ข้อมือหรือที่คอ ในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เวลาที่จับชีพจรจะพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอและมักจะเร็วผิดปกติ
คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นพริ้ว อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ |
การแบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
- Paroxysmal atrial fibrillation (PAF) หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถหายไปได้เองหรือจากการรักษาภายใน 7 วัน ส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก
- Persistent atrial fibrillation หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานานกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี
- Longstanding persistent atrial fibrillation หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานานกว่า 1 ปี
- Permanent atrial fibrillation
หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานาน ที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติได้ด้วยวิธการต่างๆ หรือ แพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไม่พยายามรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติ หากแต่จะคุมอัตราการเต้นหัวใจเท่านั้น
อาการของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
สาเหตุและกลไกการเกิดของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ภาวะโรคหัวใจและโรคอื่นๆบางชนิดทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้วได้สูง การที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีนมากเกินไปอาจจะกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจเต้นพริ้วได้ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ใหญ่ในทุกกลุ่มอายุ ความชุกของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ พบความชุกมากถึงร้อยละ 10 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 75 ปี
สามารถแบ่งสาเหตุได้ดังนี้
- เป็นผลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหลังผ่าตัดหัวใจ
- เป็นผลจากโรคของระบบอื่น เช่น ภาวะสูงวัย โรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคเบาหวาน โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โรคปอดเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคติดเชื้อไวรัส ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ไม่ทราบสาเหตุ
กลไกการเกิดโรค
- มีจุดกำเนิดไฟฟ้าผิดปกติ ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในหัวใจ เช่น ความดันในห้องหัวใจที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น ระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ตำแหน่งของจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติมักอยู่ที่ pulmonary veins (เส้นเลือดดำจากปอดที่ต่อกับหัวใจห้องบนซ้าย)
- มีวงจรไฟฟ้าหมุนวนหลายตำแหน่ง จากพยาธิสภาพต่างๆ ที่ทำให้พังผืดเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้าของเซลล์หัวใจ ซึ่งนำไปสู่การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดเป็นวงจรหมุนวนขึ้น
- ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีกลไกการเกิดทั้งสองแบบร่วมกัน
ผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจเต้นระริก
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในโรคหัวใจเต้นพริ้ว คือ เส้นเลือดในสมองอุดตัน และโรคหัวใจล้มเหลว
- เส้นเลือดในสมองอุดตัน
ในโรคหัวใจเต้นพริ้ว หัวใจห้องบนทั้งสองห้องไม่บีบตัวผลักเลือดลงมาตามปกติ ทำให้มีเลือดบางส่วนคั่งอยู่ในห้องบน อาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ หากลิ่มเลือดเข้าสู่กระแสเลือดก็จะทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอัมพาตได้
- โรคหัวใจล้มเหลว
การที่หัวใจห้องบนเต้นพริ้วอาจส่งคลื่นกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจห้องล่างให้มีอัตราเต้นที่เร็วผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงตามมา อาการที่พบได้แก่ หายใจหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ขาบวม และน้ำหนักขึ้น
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้ว
การวินิจฉัยโรคนี้ก็เหมือนโรคทั่วไปซึ่งข้อมูลได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจอื่นๆ ซึ่งช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือ ตรวจหาสาเหตุการเกิดโรคนี้ เช่น การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการผิดปกติ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจเลือด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจยืนยันการวินิจฉัยได้ดีที่สุด สามารถตรวจได้ที่คลินิค และโรงพยาบาล
คลื่นไฟฟ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจในคนปกติ | คลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นพริ้ว |
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการผิดปกติ
คืออุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ยาวนานระดับหนึ่ง ช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้วได้ดี เพราะว่าขณะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์อาจจะมีหัวใจเต้นปกติ แต่หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นขณะที่อยูที่อื่น
การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ โดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ และเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้ มาสร้างภาพ ดังนั้นภาพที่เห็นก็คือ หัวใจของผู้ป่วย ด้วยวิธีการตรวจนี้ทำให้แพทย์ทราบโครงสร้างและการทำงานของหัวใจได้ดีขึ้น ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา ในโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ และใช้เวลาไม่นาน
การตรวจนิยมทำ 2 วิธีคือ
- ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ ตรวจบริเวณผนังทรวงอกด้านนอก เป็นการตรวจที่นิยมทำกันทั่วไป วิธีการทำค่อนข้างง่าย ไม่เจ็บตัว ไม่มีอันตรายใดๆ
- ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ สอดผ่านช่องปาก เข้าไปอยู่ในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นตำหน่งด้านหลังของหัวใจโดยตรง การตรวจวิธีนี้ สามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจ และหลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังหัวใจ เช่น หัวใจห้องบนซ้าย ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ได้ชัดเจนกว่าวิธีแรก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางราย ทำเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น เนื่องจากอาจมีอันตรายต่อหลอดอาหารได้ นิยมตรวจในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นพริ้วเพื่อจะดูว่ามีลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้ายหรือไม่ก่อนการให้ยาหรือช็อคด้วยไฟฟ้าเพื่อปรับจังหวะหัวใจ
การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาอย่างหนึ่ง โดยถ่ายภาพทรวงอกด้วยรังสีเอกซ์ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคและภาวะต่างๆเกี่ยวกับทรวงอกได้หลายอย่าง ไม่เจ็บตัว
การตรวจเลือด
ตรวจวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน และระดับเกลือแร่ในร่างกาย เกลือแร่เป็นตัวช่วยปรับสมดุลภาวะกรดด่าง และ น้ำของร่างกาย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการทำงานในระบบต่างๆของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ
การรักษาโรคหัวใจเต้นพริ้ว
มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการลดอัตราตายและอัตราการเข้าโรงพยาบาล โดยมีวิธีการหลายอย่างดังนี้
- ค้นหาและรักษาสาเหตุการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก
- ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ
- ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและลดอัตราการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน
การรักษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา การเปลี่ยนจังหวะการเต้นหัวใจ การจี้รักษา และการผ่าตัดหัวใจ การจะเลือกรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอายุ ประวัติการเจ็บป่วย อาการแสดงของผู้ป่วย ชนิดของโรคหัวใจเต้นระริก ระยะเวลาในการเกิดหัวใจเต้นพริ้ว และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
การคุมอัตราการเต้นหัวใจ
การคุมอ้ตราเต้นหัวใจห้องล่างไม่ให้เร็วเกินไป โดยอาศัยยากั้นไฟฟ้าผ่าน AV node หากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและล้มเหลวตามมาได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคุมอัตราเต้นหัวใจขณะพักให้ไม่สูงกว่า 110 ครั้งต่อนาที ยาในกลุ่มนี้ได้แก่
- Beta-blockers เช่น Metoprolol Atenolol Bisoprolol
- Non-dihydropyridine calcium channel blockers ได้แก่ Verapamil Diltiazem
- Digoxin ยาตัวนี้ไม่ใช้เป็นทางเลือกหลัก ควรพิจารณาเลือกใช้ต่อเมื่อใช้ยา Beta-blockers หรือ Non-dihydropyridine calcium channel blockers ไม่ได้ หรือใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
- Amiodarone เป็นยาควบคุมทั้งอัตราและจังหวะการเต้นหัวใจ มักนิยมให้ผ่านทางหลอดเลือดดำกรณีที่มีอัตราเต้นหัวใจที่เร็วกว่าปกติ
การคุมจังหวะการเต้นหัวใจ
การปรับจังหวะการเต้นหัวใจทำได้ด้วย 2 วิธีหลัก คือ
- การรักษาด้วยยา มียาหลายตัวที่สามารถปรับจังหวะการเต้นหัวใจให้กลับมาเต้นปกติได้ ประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวต่างกัน ยากลุ่มนี้ได้แก่ Flecainide Propafenone Amiodarone Dronedarone Dofetilide Ibutilide
- การช็อคด้วยไฟฟ้า
ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องทำการคุมจังหวะโดยฉุกเฉินได้แก่ ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพไม่คงตัว การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การเกิดหัวใจล้มเหลว ในขณะเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้ว
การจี้รักษา
ข้อบ่งชี้ในการจี้รักษา คือ ผู้ป่วยที่ยังมีอาการจากโรคหัวใจเต้นพริ้วอยู่มาก แม้ว่าได้รับการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างแล้ว ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการควบคุมจังหวะให้ปกติแต่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา หรือมีผลข้างเคียงจากยา หรือไม่ประสงค์จะทานยา ในผู้ป่วยที่เป็น Paroxysmal AF อายุน้อย และไม่มีความผิดปกติของหัวใจที่ตรวจพบได้ หรือ ในผู้ป่วยที่มีหัวใจล้มเหลวหรือมีการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ การรักษาวิธีนี้แพทย์จะใส่สายสวนพิเศษสอดผ่านหลอดเลือดดำที่ขาหนีบภายใต้การระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อหาตำแหน่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติในผนังหัวใจ และใช้พลังงานความร้อนจี้ทำลายสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกตินั้น การจี้หัวใจมีหลายวิธี
การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและลิ่มเลือดอุดตันในสมอง
โรคหัวใจห้องบนเต้นระริกเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดและลิ่มเลือดอุดตันในสมองอย่างมาก เนื่องจากในภาวะนี้หัวใจห้องบนไม่สามารถบีบตัวผลักดันเลือดจากหัวใจห้องบนได้ จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ หากลิ่มเลือดในหัวใจเข้าสู่กระแสเลือด อาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นระริกที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดระดับปานกลาง หรือ สูง แพทย์จะให้กินยาต้านการเกิดลิ่มเลือด การพิจารณาใช้ยาต้านการเกิดลิ่มเลือดในผู้ป่วยนั้นต้องพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกจากผลของยาด้วย ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกสูงอาจพิจารณาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองด้วยวิธีอื่น
ยาต้านการเกิดลิ่มเลือดในปัจจุบันแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้
- Warfarin คือ ยา vitamin K dependent coagulation factors antagonist เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้มานาน แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีฤทธิ์คงตัวอาจต้องปรับขนาดยาเป็นประจำ ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยาเป็นประจำ มีการรบกวนผลของยาจากอาหารที่รับประทาน และมีปฏิกริยากับยาอื่นๆมาก
- NOACs (New oral anticoagulants) ป้จจุบันมียาต้านการแข็งตัวของเลือด ชนิดรับประทานที่มีการศึกษาวิจัยขึ้นใหม่สองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่ม Direct thrombin inhibitor ได้แก่ Dabigatran (Pradaxa) อีกกลุ่มหนึ่งคือ Factor Xa inhibitors ได้แก่ Rivaroxaban (Xarelto) Apixaban (Eliquis) Endoxaban (Savaysa) ยาใหม่ทั้งสองกลุ่มนี้มีข้อดีกว่า Warfarin คือ ลดผลข้างเคียงที่ทำให้เลือดออกในสมอง ออกฤทธิ์เร็วเมื่อเริ่มทานยาและหมดฤทธิ์เร็วเมื่อหยุดยา มีฤทธิ์คงตัวไม่ต้องปรับขนาดยา ไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยา ไม่มีการรบกวนผลของยาจากอาหารที่รับประทาน และมีปฏิกริยากับยาอื่นน้อยกว่า Warfarin ข้อเสียคือเป็นยาใหม่ ยามีราคาแพง ใช้ยากในผู้ป่วยที่หน้าที่ไตบกพร่อง และยังไม่มียาแก้ฤทธิ์หากเกิดภาวะเลือดออกมากกระทันหัน
Warfarin | Dabigatran (Pradaxa) |
Rivaroxaban (Xarelto) |
Apixaban (Eliquis) |
Endoxaban (Savaysa) |
|
ตรวจวัดประสิทธิภาพยา | * จำเป็น (Check INR) |
**ไม่จำเป็น | **ไม่จำเป็น | **ไม่จำเป็น | **ไม่จำเป็น |
ระยะเวลาที่ร่างกายใช้ในการขจัดปริมาณยาออกครึ่งหนึ่ง (ชั่วโมง) | 20-60 | 12-17 | 5-13 | 9-15 | 10-14 |
ให้ยา | วันละครั้ง | วันละสองเวลา | วันละครั้ง | วันละสองเวลา | วันละครั้ง |
ยาต้านพิษ | Yes | No | No | No | No |
การรบกวนผลของยาจากอาหารหรือยาชนิดอื่น | ++++ | + | + | + | + |
ราคา | + | ++++ | ++++ | ++++ | ++++ |
* ต้องตรวจวัดประสิทธิภาพยา (ไม่สะดวก เพิ่มค่าใช้จ่าย เสียเวลา)
** ไม่ต้องตรวจวัดประสิทธิภาพยา (เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ป่วยทานยาถูกต้องหรือเปล่า)