Ankle-Brachial Index (ABI) ดัชนี ข้อเท้า-แขน

diagnosis
Noninvasive Diagnostic Service
Ankle - Brachial Index เป็นการทดสอบที่ทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และผู้ตรวจไม่ได้รับความเจ็บปวด อะไรในระหว่างที่ตรวจ โดยการตรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเช็กดูว่ามีโรคของหลอดเลือดเเดงที่แขนหรือขาตีบ หรือไม่
table of contents

Ankle-Brachial Index คืออะไร

ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงที่แขนและขาตีบตันมีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของการตรวจ Ankle-Bracnhial index มีอะไรบ้าง

ประสิทธิภาพในการให้การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงตีบตันที่ขา

ความเสี่ยงของการทำ Ankle-Brachial index คืออะไร

การเตรียมตัวก่อนทำการตรวจ

การเเปรผลการตรวจ

อาการขาดเลือดที่ขาแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

Ankle-Brachial Index คืออะไร

Ankle – Brachial Index เป็นการทดสอบที่ทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และผู้ตรวจไม่ได้รับความเจ็บปวด อะไรในระหว่างที่ตรวจ โดยการตรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเช็กดูว่ามีโรคของหลอดเลือดเเดงที่แขนหรือขาตีบ หรือไม่

โรคหลอดเลือดแดงตีบตันที่ขา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากมีตะกรัน (Atherosclerotic Plaque) ไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและเลือดไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงขาได้อย่างพอเพียง ซึ่งส่งผลให้คนไข้มีอาการปวดขา โดยเฉพาะเวลาที่เดินหรือออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดแผลเรื้อรังที่นิ้วเท้าและเท้าได้อีก ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันและรวมไปถึงโรคของหลอดเลือดสมองด้วย

หลักการของการทำ  Ankle – Brachial Index คือ การเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial Artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle)

ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงที่แขนและขาตีบตันมีอะไรบ้าง

  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • มีประวัติเคยสูบบุหรี่หรือกำลังสูบบุหรี่อยู่
  • เบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วน (ค่าดรรชนีมวลกายหรือ Body Mass Index มากกว่าหรือเท่ากับ 25)
  • โรคที่มีระดับของสารบางอย่างในเลือดสูง เช่น Lipoprotein, Homocysteine

ประโยชน์ของการตรวจ Ankle-Bracnhial index มีอะไรบ้าง

  • ใช้ในการวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน
  • ใช้ในการประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด
  • ใช้ทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคของระบบหลอดเลือดและระบบหัวใจในอนาคต
  • ใช้ประเมินผลภายหลังการรักษา

ประสิทธิภาพในการให้การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงตีบตันที่ขา

Ankle – Brachial Index เป็นการตรวจที่ให้ความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ โดยที่ความไว (Sensitivity) ในการตรวจประมาณ 90% และความจำเพาะในการตรวจ 98%
 

ดัชนี ข้อเท้า-แขน, Ankle-Brachial Index

ความเสี่ยงของการทำ Ankle-Brachial index คืออะไร

ไม่มีความเสี่ยงจากการทำ Ankle – Brachial Index การตรวจนี้เหมือนการวัดความดันโลหิตทั่วไป

การเตรียมตัวก่อนทำการตรวจ

การตรวจนี้ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดเป็นพิเศษ ลักษณะการตรวจจะเหมือนการวัดความดันโลหิตทั่วไป
ในระหว่างที่ตรวจจะให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงที่จัดเตรียมไว้ให้ และเริ่มต้นวัดความดันที่แขนทั้ง 2 ข้างและเหนือข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นจะนำค่าความดันที่วัดได้มาคำนวณ Ankle – Brachial Index โดยนำค่าความดันที่วัดได้ที่บริเวณเหนือข้อเท้าในแต่ละข้าง มาหารด้วยความดันสูงสุดที่วัดได้จากแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเครื่องตรวจที่ใช้โดยทั่วไปและที่ใช้ในโรงพยาบาลกรุงเทพ เครื่องคอมพิวเตอร์จะสามารถคำนวณค่านี้ออกมาให้โดยอัตโนมัติ ค่าที่ได้นี้จะใช้ในการแปรผลซึ่งจะได้กล่าวไว้ในหัวข้อถัดไป

การเเปรผลการตรวจ

ค่าที่ได้จากการวัด ABI ในแต่ละข้างจะนำมาใช้ในการแปรผลดังนี้

  1. Ankle – Brachial Ratio > 1.4: ภาวะที่ไม่สามารถบีบกดเส้นเลือดได้ (Non – Compressible Vessels) ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดแข็งตัว ดูรายละเอียดในหัวข้อถัดไป
  2. Ankle – Brachial Ratio > 0.90: อยู่ในเกณฑ์ปกติ (Normal)
  3. Ankle – Brachial Ratio < 0.90: มีการตีบของหลอดเลือดที่ขา
  4. Ankle – Brachial Ratio < 0.6: มีการตีบของหลอดเลือดที่ขา ร่วมกับมีอาการขาดเลือดที่ขา*
  5. Ankle – Brachial Ratio < 0.5: มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาในหลายระดับ
  6. Ankle – Brachial Ratio < 0.3: มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาขั้นรุนแรงและอาจมีความจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการทำหัตถการ อย่างฉุกเฉิน
  7. Ankle – Brachial Ratio < 0.26: มีอาการปวดขาจากการขาดเลือดในขณะพัก
  8. Ankle – Brachial Ratio < 0.2: มีการตายของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณขาที่ขาดเลือดไปเลี้ยง

อาการขาดเลือดที่ขาแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. แบบเฉียบพลัน (Acute Limb Ischemia) ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดขา ปลายเท้าซีดเย็น ชาไม่มีความรู้สึก แบบเฉียบพลัน ถ้าสังเกตและสัมผัสด้วยการเปรียบเทียบกับเท้าอีกข้างจะพบว่า ซีดและเย็นกว่า ตรวจร่างกาย ก็จะพบว่าไม่สามารถคลำชีพจรได้ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อขา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสูญเสียขาและเท้า หรือในบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  2. แบบขาดเลือดเรื้อรัง (Chronic Limb Ischemia) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขาเวลาเดินหรือออกแรง อาการ จะดีขึ้นในขณะที่พัก ในรายที่การตีบเป็นรุนแรงอาจมีอาการปวดขาในขณะที่พักได้ นอกจากนี้การตรวจ ร่างกายอาจพบลักษณะของ ผิวหนังแห้ง ขนร่วง และเล็บผิดรูปได้

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com