หัวใจแข็งแรงสุขภาพดียืนยาว
เพราะโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ดังนั้นการดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจเช็กหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์ ย่อมช่วยให้หัวใจแข็งแรงนำมาซึ่งการมีสุขภาพดีและอายุที่ยืนยาว เนื่องในวันหัวใจโลก 2566 (World Heart Day 2023) ปีนี้ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) อยากให้ทุกคน USE HEART KNOW HEART รักหัวใจ รู้จักหัวใจให้มากขึ้น ดูแลหัวใจได้ดีขึ้น เพื่อการมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน
หัวใจกับโควิด-19 (USE HEART TO PROTECT YOUR HEART)
การติดเชื้อโควิด-19 มีผลต่อระบบหัวใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นผู้ป่วยโควิด-19 จะพบปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการมักไม่รุนแรง ไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนใหญ่ที่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมักมาจากโรคร่วม อาทิ ภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะปอดอักเสบรุนแรง เป็นต้น เมื่อผ่านระยะเฉียบพลันเข้าสู่ระยะพักฟื้น ในระยะยาวบางรายอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อย ระดับน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นผลจากรอยโรคที่เกิดจากโควิดที่หัวใจ ปอด หลอดเลือด และสมอง
การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ จากผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสป่วยเป็นโควิด-19 เพิ่มขึ้น 8 เท่า มีโอกาสนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 25 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 เท่า ดังนั้นหลายคนที่กังวลเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน อย่างภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นพบได้น้อยมากและหายได้เองภายใน 1 – 3 สัปดาห์ จึงควรฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็ว
พร้อมดูแลผู้ป่วยทุกเวลา (USE HEART TO CONNECT YOUR HEART)
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพพร้อมดูแลผู้ป่วยด้วยมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจในทุกการรักษา ได้แก่
- ป้องกันโรคในทุกจุดบริการ ด้วยมาตรฐานการให้บริการในด้านความสะอาดของสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลที่ให้บริการผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย เพื่อควบคุมโรคอย่างเข้มงวดและให้ความมั่นใจกับผู้มารับบริการ
- พร้อมทุกการผ่าตัดหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในกรณีผ่าตัดตามนัดหมายและผ่าตัดเร่งด่วนฉุกเฉิน ทีมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจจะทำการตรวจประเมินโดยละเอียด เตรียมความพร้อมการผ่าตัดภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในช่วงโควิด-19 และทำการผ่าตัดทันทีเพื่อลดความรุนแรงและประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
- บริการสุขภาพส่งตรงถึงบ้าน ได้แก่ บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Teleconsultation) ผู้ป่วยสามารถปรึกษาปัญหาโรคหัวใจกับแพทย์เฉพาะทางหัวใจผ่านทางโทรศัพท์ หรือ VDO conference ตลอดจนบริการจัดส่งยาทั่วประเทศไทย บริการเจาะเลือดที่บ้านและบริการฉีดวัคซีนที่บ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เชื่อมต่อทุกหัวใจให้สุขภาพดี (USE HEART TO CONNECT EVERY HEART)
เพราะการดูแลสุขภาพหัวใจของตัวเองและคนที่คุณรัก ตลอดจนคนรอบข้าง สังคม และชุมชนให้มีสุขภาพหัวใจที่ดีไปด้วยกัน ย่อมช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งในโลกยุคดิจิทัลการเชื่อมต่อเรื่องหัวใจนั้นสามารถทำได้ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างใกล้ชิดทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ยืนยาว ประกอบไปด้วย 3 มิติในการดูแล ได้แก่
1) ความเท่าเทียมกัน (EQUITY)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงการรักษาได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยหัวใจแบบครบทุกมิติ มีการให้ข้อมูลการดูแลรักษาและป้องกันโรคหัวใจผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, Line Official Heart Care, แอปพลิเคชัน My B+, การพูดคุยกับผู้ป่วยหัวใจแบบออนไลน์ Telemedicine เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถตรวจติดตามอาการ ดูแลและป้องกันโรคได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2) การป้องกัน (PREVENTION)
การป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้ด้วยการดูแลตัวเองให้ถูกวิธี ได้แก่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- งดสูบบุหรี่
- ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลดูแลชีพจรหัวใจ อย่าง แอปพลิเคชันต่าง ๆ, Smart Watch
- ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ ได้แก่ ตรวจยีน, ตรวจอัลตราซาวนด์, ตรวจ MRI, ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง Echocardiogram, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG), ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Calcium Scan (CAC) เป็นต้น
- หากมีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ฯลฯ ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพตามนัดหมาย หากมีอาการผิดปกติให้ติดต่อแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลทันที
3) สังคมและชุมชน (COMMUNITY)
มีหลายล้านคนทั่วโลกที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดและได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 อาจไม่ได้มาพบแพทย์ตามนัด ตลอดจนไม่ได้พบกับครอบครัวและคนใกล้ชิด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพตระหนักถึงการเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องและโดยเร็วที่สุดจึงพร้อมให้การดูแลอย่างทั่วถึงทั้งผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยวิกฤติ โดยสามารถใช้พลังของดิจิทัล ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, Line Official Heart Care, แอปพลิเคชัน My B+, การพูดคุยกับผู้ป่วยหัวใจแบบออนไลน์ Telemedicine เป็นต้น เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาหัวใจอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
เนื่องในวันหัวใจโลก 2566 (World Heart Day 2023) ที่ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี อยากให้ทุกคนตระหนักเสมอว่า การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดย่อมดีกว่าการรักษา โรคหัวใจป้องกันได้ด้วยการกินดี นอนดี ออกกำลังกายดี หมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ แต่ถ้ามีอาการหัวใจผิดปกตินั้นรอไม่ได้ ให้รีบตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางทันที รู้ก่อนรักษาก่อน เพิ่มโอกาสในการหาย และถ้าป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วต้องคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดี พบแพทย์ตามนัด ทำการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้สุขภาพหัวใจดีแข็งแรงไปอีกนาน