ผู้หญิงกับโรคหัวใจ วัยสาวเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ วัยทองโอกาสหัวใจตีบสูง

ผู้หญิงกับโรคหัวใจ วัยสาวเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ วัยทองโอกาสหัวใจตีบสูง
แชร์

“อัตราการเสียชีวิตโดยรวมของโรคหัวใจขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม โดยผู้หญิงจะมีอัตราส่วนการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยกว่าผู้ชาย 5 ต่อ 1 แต่พออายุมากขึ้นถึงวัยหมดประจำเดือน โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเท่ากับผู้ชาย”


โรคหัวใจ

โรคหัวใจแบ่งออกเป็นได้หลายประเภท ถ้าแบ่งแบบง่าย ๆ คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจที่เกิดภายหลัง ถ้าแบ่งตามโรคหัวใจทั่วไป แบ่งได้เป็นโรคของหลอดเลือดหัวใจและโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ โรคของการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ แต่ละโรคจะมีความผิดปกติในแต่ละแบบ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม โรคจากหลอดเลือดหัวใจ ถ้ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดหัวใจโป่งพองหรือตีบผิดปกติ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจมีตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ดี เนื่องจากการขาดเลือดไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ หรือโรคลิ้นหัวใจ ตั้งแต่ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ โรคจังหวะการเต้นหัวใจ การนำกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติจะมีการเต้นที่ช้าเกินไป เร็วเกินไป หรือเต้นผิดปกติบางอย่างก็ไม่อันตรายกับชีวิต

 

วินิจฉัยโรคหัวใจในผู้หญิง

การวินิจฉัยโรคหัวใจสำหรับผู้หญิงยากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงบางครั้งมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกก็เกิดความกังวล แต่ในผู้ชายมักจะบอกอาการได้ชัดเจนกว่าผู้หญิง และถ้ามีอาการมักจะรอจนทนไม่ไหวจริง ๆ ถึงมาพบแพทย์ 


วัยสาวเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในผู้หญิงอายุน้อยส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย ก็มักจะมาด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่ผิดจังหวะชั่วคราวเนื่องจากความเครียด ทานยาบางอย่าง หรือเนื่องจากทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้ง ซึ่งสามารถหายเองได้ บางครั้งถ้าไม่หายเองอาจต้องใช้ยาช่วยควบคุม แต่ถ้าผิดปกติมาก ๆ อาจต้องจี้ด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เป็นปกติ นอกจากนี้สมัยก่อนที่พบคือ โรคลิ้นหัวใจ มีโรคเฉพาะในประเทศที่ยังไม่พัฒนา เมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ แล้วไม่รักษาให้ดี ทำให้มีภูมิต้านทานไปจับที่ลิ้นหัวใจ เกิดความผิดปกติในหัวใจ คออักเสบติดเชื้อ พวกเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococus) ทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาแล้วไปจับที่ข้อตัวลิ้นหัวใจ จึงทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic) ทำให้ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วได้ ปัจจุบันป้องกันได้ครอบคลุม โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติกก็ลดน้อยลงไป



วัยทองหลอดเลือดหัวใจตีบถามหา

เมื่อผู้หญิงอายุแตะวัยทอง โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบพุ่งเท่าคุณผู้ชาย โดยผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เท่ากับผู้ชาย คือโดยรวมผู้หญิงจะมีอัตราส่วนของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยกว่าผู้ชาย 5 ต่อ 1 หรือประมาณ 20 – 25% แต่พออายุมากขึ้นถึงวัยหมดประจำเดือน โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเท่ากับผู้ชาย 

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีอายุมากกว่า 40 – 45 ปี อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ส่วนผู้ชายอาจพบเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุ 30 ปี สมัยก่อนพบว่าผู้ชายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่ออายุเกิน 45 ปี แต่ปัจจุบันอายุน้อยลง 30 ปีก็พบเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ เนื่องจากความเครียด สูบบุหรี่ ทานอาหารจังก์ฟู้ดส์ ไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้


สัญญาณเตือนหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • หายใจไม่อิ่ม
  • แน่นหน้าอก
  • เจ็บหน้าอก
  • เหนื่อยง่าย 
  • ปวดกราม
  • ปวดแขน
  • ปวดไหล่ 

ยกตัวอย่าง อาการเหนื่อยง่าย เช่น เคยเดินขึ้นสะพานลอยข้ามถนนทั้งที่อายุยังไม่มาก แต่เหนื่อย นี่คือสัญญาณเตือน ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือหลังทานอาหารมื้อใหญ่สักพักแน่นหน้าอก นี่คือสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  เพราะการทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ เข้าไป เลือดจะไปเลี้ยงกระเพาะ ลำไส้ แย่งเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจึงน้อยลง ถ้าเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว เลือดไปเลี้ยงหัวใจจะไม่พอ เกิดอาการแน่นหน้าอก โดยอาการแน่นหน้าอกที่บ่งชี้ชัดเจนว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชี้ตำแหน่งที่แน่นอนไม่ได้ ส่วนใหญ่คือบริเวณหน้าอกค่อนมาทางด้านซ้าย หากชี้ตำแหน่งได้ว่าเจ็บตรงไหนอันนั้นไม่ใช่โรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะต้องแน่นหน้าอกตรงบริเวณโดยรวม ไม่สามารถชี้จุดได้ ถ้าชี้จุดได้จะเจ็บจากกล้ามเนื้อมากกว่า

ถ้าแน่นบริเวณหน้าอกแล้วปวดร้าวไปที่กรามหรือปวดร้าวที่แขนซ้ายหรือแขนขวาเป็นอาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะไม่มีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บของหัวใจ เส้นประสาทที่รับความรู้สึกของหัวใจจะมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกถึงการขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งเป็นเส้นประสาทเส้นเดียวกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงผิวหนังตรงบริเวณหน้าอก รวมทั้งกรามแล้วลงไปที่แขน เพราะฉะนั้นเวลาหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะรู้สึกแน่นหน้าอก ปวดกราม หรือปวดแขน เพราะเป็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้น 


ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้ตามเกณฑ์
  • คุมไขมันในเส้นเลือดไม่ให้สูงเกินกำหนด
  • ระวังควบคุมเบาหวาน
  • คุมความดันโลหิตไม่ให้สูง
  • เลี่ยงอาหารรสเค็ม ของทอด ของมัน คาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์ติดหนัง อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก ไข่ปู มันปู ไข่กุ้ง ไข่ปลา 
  • เน้นรับประทานผัก ปลา 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ปล่อยวางอย่าเครียด
แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคาร H โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
info@bangkokhospital.com