หัวใจทำไมเต้นผิดจังหวะ
เมื่อพูดถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย โดยต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคนั้นมีทั้งจากการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยแวดล้อม และพันธุกรรมล้วนมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้เสียชีวิตแบบกระทันหันได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องใส่ใจ
ปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบพบบ่อยที่สุดประมาณ 70% รวมทั้งกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนไทย 1,000 คน สามารถพบได้ 40 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ทุกคนสามารถเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจหรือการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน โดยส่งผลให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะและมีลักษณะหัวใจเต้นผิดปกติได้แก่
- หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที
- หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้น ๆ หยุด ๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า
สาเหตุหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
- โรคประจำตัว ได้แก่ ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง และโรคนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น
- ยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และแอลกอฮอล์
- ยาเสพติดบางชนิดที่มีแอมเฟตามีนผสม
- ยาลดน้ำหนัก ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน
- พันธุกรรม
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาการที่ปรากฏและควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
- ใจสั่นผิดปกติ
- วูบ
- หน้ามืด
- เป็นลม
- จุกแน่นขึ้นคอ ลิ้นปี
- เจ็บแน่นหน้าอก
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- นอนราบไม่ได้
ตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีวิธีการอย่างไร
การตรวจหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG (Electrocardiogram) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการตลอดเวลา
- เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้า 24 – 48 ชั่วโมง (Holter Monitoring 24 – 48 hr.) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงสั้น ๆ แต่เป็นบ่อยเกือบทุกวัน
- เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าแบบพกพา (Event Recorder) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย อาจจะเดือนละ 1 – 2 ครั้ง โดยเครื่องจะบันทึกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และกดปุ่มส่งบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาที่โรงพยาบาลได้
- เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าชนิดฝังเครื่องใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก (Implantable Loop Recorder) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย จะใช้วิธีฝังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย
- การตรวจเช็กสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจโดยใช้สายสวนหัวใจ (EP Study) จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเจอภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้จากการตรวจต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะวิธีรักษาเป็นอย่างไร
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นสำคัญว่าป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในแบบใด ได้แก่
- การให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การช็อกไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ
- การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจชนิดพิเศษ สวนเข้าไปบริเวณเส้นเลือดดำที่ขาหนีบ
- เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ใส่ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ มี 2 แบบคือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียวและสองห้อง การเลือกฝังเครื่องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยแบตเตอรี่ใช้งานได้ 10 ปีขึ้นไปและเข้าเครื่อง MRI ได้
- เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติหรือเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD) ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ หากหัวใจไม่กลับมาเต้นตามปกติในเวลาที่รวดเร็วอาจเสียชีวิตได้ แบตเตอรี่จะมีอายุใช้งาน 7 – 8 ปีขึ้นไป ข้อดีของเครื่องนี้คือ ถ้าอยู่บ้านแล้วหัวใจเต้นผิดจังหวะและมีอันตรายถึงชีวิต เครื่องจะกระตุกหัวใจอัตโนมัติให้ผู้ป่วยฟื้น
เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) คืออะไร
หัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาได้ด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานด้วยแบตเตอรี่เพื่อเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติหรือภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วคราวเพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือกไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้
เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีข้อดีอย่างไร
เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดชั่วคราว (Temporary Pacemaker) มี 2 แบบ คือ
- เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดชั่วคราวผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Pacemaker) จะอยู่ภายนอกร่างกาย โดยมีแผ่นอิเล็กโทรดแปะที่ด้านหน้าและด้านหลังของหน้าอกฝั่งซ้าย มีข้อดีคือ ใช้งานง่าย เหมาะกับใช้ในกรณีฉุกเฉิน
- เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดชั่วคราวผ่านทางหลอดเลือดดำ (Transvenous Pacemaker) เครื่องกระตุ้นหัวใจที่จะอยู่ภายนอกร่างกายแต่มีสายอิเล็กโทรดที่สอดผ่านหลอดเลือดดำไปยังหัวใจห้องล่างขวาเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นมีข้อดีคือส่งสัญญาณกระตุ้นหัวใจตรงตำแหน่ง
- เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร (Permanent Pacemaker) คือ การฝัง Pacemaker หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทางหัวใจจะผ่าตัดเปิดบริเวณหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้าเพื่อใส่สายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปทางหลอดเลือดดำเข้าไปที่ผนังด้านในหัวใจเพื่อเชื่อมกับเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อแก้ปัญหาหัวใจเต้นช้าหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ข้อดีคือความเสี่ยงต่ำ หลังแผลหายกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ดูแลหลังฝัง Pacemaker อย่างไร
- หลังฝัง Pacemaker ต้องพักที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าใจและตรวจเช็กการเต้นของหัวใจผู้ป่วย
- ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิทใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ห้ามยกแขนหรือพยายามเลี่ยงการใช้แขนข้างเดียวกับที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจอย่างน้อย 2 เดือน
- อย่ายกของหนัก เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรง 2 เดือน
- พบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อตรวจสอบการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
- หากต้องเข้ารับการรักษาหรือผ่าตัดต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทุกครั้ง
- ถ้าต้องขึ้นเครื่องบินเมื่อผ่านเครื่องตรวจจับโลหะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง
วิธีป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทำได้อย่างไร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 45 นาที/วัน 3 – 5วัน/สัปดาห์
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
- อย่ารับประทานอาหารหวาน มัน เค็มมากไป
- เลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6 – 8 ชั่วโมง/วัน
- ไม่เครียดจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพหัวใจทุกปี
- หากมีโรคประจำตัวควรติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
โรงพยาบาลที่รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาทุกความผิดปกติของจังหวะหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เรามีความชำนาญในการจี้จุดกำเนิดการเต้นผิดปกติในหัวใจ ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ และรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในทุกมิติ ด้วยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและทันสมัย ความพร้อมของทีมพยาบาลและทีมสหสาขาเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะและเครื่องกระตุ้นหัวใจ
แพ็กเกจรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะและเครื่องกระตุ้นหัวใจ ราคาเริ่มต้นที่ 230,000 บาท