สังเกต 5 อาการบอกโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง Aortic Aneurysm

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่สามารถวินิจฉัยได้ทัน ทำการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตทันที ดังนั้นการสังเกตอาการสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
- หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา เป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปสู่ส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย อาจขยายใหญ่ขึ้นจนโป่งพองได้ ในทางการแพทย์จึงเรียกว่า โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aortic aneurysm) ซึ่งอาจเป็นที่บริเวณช่องอก (Thoracic Aortic Aneurysm) และบริเวณช่องท้อง (Abdominal Aortic Aneurysm หรือ AAA) ที่พบได้บ่อยกว่าช่องอก
- หลอดเลือดแดงโป่งพองยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ผนังของหลอดเลือดก็ยิ่งมีความแข็งแรงน้อยลงเท่านั้น และความเสี่ยงที่หลอดเลือดแดงจะปริแตกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเกิดภาวะหลอดเลือดแตกโอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิตจะอยู่ในอัตราที่น้อยมาก โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วย 1 ใน 4 ที่รอดชีวิตหลังจากเกิดภาวะหลอดเลือดปริแตก
- หากตรวจพบว่ามีหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง ศัลยแพทย์มักแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด หรือบางรายสามารถให้การรักษาผ่านสายสวนได้
กลุ่มเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
กลุ่มเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่ควรเข้ารับการตรวจรักษาก่อนรุนแรง ได้แก่
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูงและมีอาการบ่งชี้
- เพศชายอายุ 65 – 75 ปี แม้ยังไม่มีอาการก็ควรตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง
- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในส่วนอื่น ๆ และมีอาการผิดปกติ
อาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่ต้องสังเกต
5 อาการของผู้ป่วยหลอดเลือดแดงโป่งพองมีความแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจทันที
1. แน่นหน้าอก ปวดหลัง หน้ามืด หมดสติ หรือไอเป็นเลือด อาจบ่งชี้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอก
2. ปวดท้อง ปวดหลัง คลำพบก้อนที่เคลื่อนไหวได้ในช่องท้อง อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง
3. หายใจลำบาก อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแล้วไปกดเบียดหลอดลม
4. กลืนลำบาก อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแล้วไปกดเบียดหลอดอาหาร
5. เสียงแหบ อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแล้วไปกดเบียดเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง
80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมักไม่แสดงอาการ และตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจคลำโดยแพทย์เฉพาะทาง การเอกซเรย์ การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง รวมทั้งการตรวจซีทีสแกน เพราะฉะนั้นหากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปตรวจเช็กกับแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรีบรักษาก่อนสาย ดูแลหัวใจให้แข็งแรงในทุกช่วงวัย
