เทคนิคกินอาหารลดไขมันในเลือด
ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยสร้างกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างไม่ได้ ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค นอกจากนี้ยังช่วยให้อาหารนุ่ม มีกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสที่ดี ในไขมันประกอบไปด้วยคอเลสเตอรอลและกรดไขมันหลายชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามถ้าบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงและเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดอุดตันในสมองได้
พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจากหลอดเลือดแดงแข็งได้แก่
- สูบบุหรี่
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- น้ำหนักเกินและอ้วน หรือมีภาวะอ้วนลงพุง โดยรอบพุงที่จัดว่ามีภาวะอ้วนลงพุง เพศชาย ตั้งแต่ 90 เซนติเมตร เพศหญิง ตั้งแต่ 80 เซนติเมตร
- ขาดกิจกรรมทางกาย คือ มีกิจกรรมทางกายขนาดออกแรงปานกลางน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์
- ความดันโลหิตสูง
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม คือ การบริโภคอาหารที่ทำให้น้ำหนักตัวสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
เทคนิคกินอาหารลดไขมัน
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด น้ำมันลอย เช่น ปาท่องโก๋ ไก่ทอด กล้วยทอด ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ขนมหวานที่มีกะทิ ฯลฯ
- การผัดอาหารควรใช้น้ำมันแต่น้อย
- จำกัดตัวเองในการกินอาหารประเภททอดและกะทิ โดยให้เลือกกินได้วันละ 1 อย่าง
- กินเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อล้วน แยกเอาส่วนที่เป็นไขมันและหนังออก
- กินอาหารประเภทต้ม ต้มยำ ยำ นึ่ง ย่าง อบ
หากมีไขมันมากเกินไปจะเกาะที่ผนังด้านในหลอดเลือด อาจทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพทุกปี โดยเฉพาะการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
ข้อมูล :
สุขภาพดีเริ่มที่อาหาร ลด หวาน มัน เค็ม เติมเต็ม ผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
คอเลสเตอรอลและกรดไขมันในอาหารไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. ๒๕๕๙
สอบถามเพิ่มเติมที่
ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com