กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง
แชร์

กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลายประเภท แต่ที่พบค่อนข้างบ่อยคือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท MG (Myasthenia Gravis) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด

TABLE OF CONTENTS


กล้ามเนื้ออ่อนแรง
คืออะไร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis : MG) เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจึงเข้าไปยับยั้งการสื่อผ่านกระแสประสาทบริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มักพบบริเวณดวงตา ปาก ใบหน้า แขน ขา อาจร้ายแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอย่างไร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ Myasthenia Gravis อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • หนังตาตกทำให้เห็นภาพซ้อนและโฟกัสภาพไม่ได้
  • พูดไม่ชัดเสียงขึ้นจมูก
  • เคี้ยวหรือกลืนลำบากสำลักได้ง่าย
  • แขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่สะดวก

 

ตรวจเช็กกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้อย่างไร

หากสงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ควรเข้ารับการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่จะเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT Chest) เพื่อหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติหรือเนื้องอกต่อมไทมัส  ตรวจระบบประสาท ตรวจการหดตัวของกล้ามเนื้อ ตรวจประเมินหนังตาตก ตรวจหาโรคร่วม และตรวจอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรงรักษาอย่างไร

วิธีรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) มีทั้งการรักษาโดยการใช้ยาและการผ่าตัด ได้แก่

  • การใช้ยา มีทั้งยาที่ช่วยลดการทำลายสารสื่อประสาทบริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ยาที่ช่วยกดภูมิคุ้มกัน และอาจต้องใช้ยาร่วมกับยาอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยในช่วงแรกแพทย์มักให้ยาเพื่อควบคุมโรคและค่อย ๆ ปรับลดลงเพื่อให้เหมาะกับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย โดยข้อจำกัดในการรักษาด้วยยาคือแพทย์ต้องดูแลยาอย่างใกล้ชิดและผู้ป่วยห้ามลดหรือหยุดยาเอง เพราะยามีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน และโรคสามารถกำเริบรุนแรงจนอาจต้องใช้ยาพิเศษ
  • การผ่าตัด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีความสัมพันธ์กับต่อมไทมัส เพราะโรคนี้เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ และต่อมไทมัสทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดขาว T Cell ที่เป็นส่วนสำคัญของภูมิคุ้มกัน การผ่าตัดต่อมไทมัสหรือเนื้องอกต่อมไทมัสออกจึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ได้ผลดี ช่วยให้อาการดีขึ้น ลดการใช้ยาภูมิคุ้มกัน และอาจหายจากโรคได้

กล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) รักษาก่อนร้ายแรง

การผ่าตัดรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงมีกี่แบบ

การผ่าตัดต่อมไทมัสเพื่อรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มี 2 แบบ ได้แก่

  1.  การผ่าตัดต่อมไทมัสด้วยการเปิดกระดูกบริเวณหน้าอก (Median Sternotomy) เป็นการผ่าตัดเปิดกระดูกบริเวณกลางหน้าอกด้วยอุปกรณ์ถ่างขยายหน้าอกเพื่อตัดต่อมไทมัสออก วิธีนี้ผู้ป่วยจะเจ็บและพักฟื้นค่อนข้างนาน
  2. การผ่าตัดต่อมไทมัสด้วยการส่องกล้อง (Video Assisted Thoracoscopic Surgery; VATS Thymectomy) โดยใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปผ่าตัดต่อมไทมัสออก แผลมีขนาดเล็กบริเวณข้างลำตัว เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นานประมาณ 2 – 3 วัน ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

ผ่าตัดต่อมไทมัสด้วยการส่องกล้อง VATS ดีอย่างไร

  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเพราะไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลจึงมีขนาดเล็กเสียเลือดน้อย
  • แพทย์ผ่าตัดได้ตรงตำแหน่ง ผ่านจอภาพที่แสดงผลชัดเจนและเครื่องมือที่ทันสมัย
  • เจ็บน้อย เพราะใช้การผ่าตัดส่องกล้อง เจาะเพียงไม่กี่ตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องผ่าเปิดแล้วกระทบอวัยวะอื่น ๆ
  • ฟื้นตัวเร็ว เพราะแผลมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย จึงไม่จำเป็นต้องพักฟื้นนาน
  • ผลการผ่าตัดมีประสิทธิภาพ เพราะแพทย์สามารถเห็นตำแหน่งการผ่าตัดที่ชัดเจน ผลข้างเคียงต่ำ

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัดรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • แจ้งรายละเอียดสุขภาพ ทั้งยาประจำตัว อาหารเสริม เพื่อให้แพทย์พิจารณาก่อนผ่าตัด
  • ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์, CT Scan, PET/CT Scan ฯลฯ
  • ฝึกหายใจและออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำ
  • งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ดูแลหลังผ่าตัดรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างไร

  • ฝึกหายใจตามที่แพทย์แนะนำ
  • ระวังอย่าให้แผลโดนน้ำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • งดยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก งดขับรถ 4 – 6 สัปดาห์
  • กินยาตามที่แพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

 

โรงพยาบาลที่รักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้วยความชำนาญในการรักษาและผ่าตัด โดยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและทันสมัย ความพร้อมของทีมพยาบาลและทีมสหสาขาต่าง ๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

 

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยศาสตร์ทรวงอก แพทย์ผู้ชำนาญด้านการส่องกล้องโรคปอดแผลเล็ก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

แพ็กเกจผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด

แพ็กเกจผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด ราคาเริ่มต้นที่ 380,000 บาท

คลิกที่นี่

แชร์