TAVI แก้ปัญหาลิ้นหัวใจในผู้สูงวัยโดยไม่ต้องผ่าตัด

TAVI แก้ปัญหาลิ้นหัวใจในผู้สูงวัยโดยไม่ต้องผ่าตัด
แชร์

หนึ่งในปัญหาหัวใจที่พบได้ในผู้สูงอายุจากความเสื่อมตามวัย คือ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจเอออร์ติก โดยเฉลี่ยประมาณ 3% ของผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 75 ปี จะเริ่มมีลิ้นหัวใจผิดปกติทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นลิ้นหัวใจจะเริ่มแข็งตัว มีหินปูนเกาะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือด ผนังหัวใจหนาตัว และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ ดังนั้นเทคนิค TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implanation) เทคนิคสายสวนแผลเล็กเพื่อซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจจึงเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดและช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง


สังเกตอาการลิ้นหัวใจผิดปกติ

  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • วูบ หน้ามืด เป็นลมบ่อย ๆ
  • เจ็บหน้าอกอย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์

 
รู้จักเทคนิค TAVI

เทคนิค TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implanation) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า TAVR (Transcatheter Aortic Valve Replacement) เป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยสายสวนแบบไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับคนไข้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic Valve) คือ มีลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจช่องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยหลักการของ TAVI เป็นการใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษ ซึ่งสามารถม้วนให้เข้าไปอยู่ในท่อเล็กประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตรของระบบนำส่ง จากนั้นสอดลวดนำทางส่งไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยังยอดของหัวใจห้องล่างซ้ายจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก แล้วตามด้วยระบบนำส่งลิ้นหัวใจ จากนั้นจึงปล่อยลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาที่ระบบนำส่ง ลิ้นหัวใจจะกางออกกลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่ โดยผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ บริเวณขาหนีบ หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือด้านบนของหน้าอกด้านขวา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สอดลิ้นหัวใจเข้าเป็นสำคัญ
 

ตำแหน่งสอดลิ้นหัวใจเข้า

  • ขาหนีบ เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะเส้นเลือดมีขนาดใหญ่
  • ไหล่ ทางเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นแขน
  • ทางขวาของหน้าอกผ่านเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ
  • แผลเล็กบริเวณยอดหัวใจ

 
TAVI ผ่าตัดแผลเล็ก แก้ปัญหาลิ้นหัวใจในผู้สูงวัย
           
ข้อดีของ TAVI

  • เสียเลือดน้อย
  • ฟื้นตัวเร็ว 2 – 3 วัน สามารถกลับบ้านได้
  • แผลมีขนาดเล็ก
  • ลดความเสี่ยงจากการดมยา เพราะสามารถใช้ยาชา ไม่ต้องดมยาสลบ
  • ใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน 2 ชั่วโมง


ข้อจำกัดของ TAVI

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่มีแบคทีเรียอยู่ในกระแสเลือด
  • ผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดในหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นอัมพาตที่ไม่สะดวกให้ยาละลายลิ่มเลือดได้
  • ผู้ป่วยที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบที่ต้องการการผ่าตัดบายพาส

 
หลังผ่าตัด TAVI

  • 3 เดือนแรกต้องทานยาละลายลิ่มเลือด ไม่ออกกำลังกายหักโหม
  • หลังพักฟื้น 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาการเหนื่อยหอบและเจ็บหน้าอกจะหายไป
 

การซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วย TAVI เทคนิคสายสวนแผลเล็กจำเป็นจะต้องมีทีมแพทย์ผ่าตัดหัวใจ แพทย์สวนหลอดเลือด วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญทางอัลตราซาวนด์ พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรทางห้องสวนหัวใจ รวมถึงการใช้ห้องผ่าตัดอัจฉริยะหรือ Hybrid Operating Room Full Function ที่รวมศักยภาพของห้องสวนหัวใจและห้องผ่าตัดหัวใจไว้ในที่เดียวกัน ด้วยเครื่องเอกซเรย์ 360 องศาที่มีความสามารถในการถ่ายภาพหัวใจทุกมุมอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้แพทย์ผ่าตัดรักษาตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ ทั้งยังรับมือกับภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมไปอีกนาน

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com