เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ มาทันเวลาเพิ่มโอกาสรอด
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันทั้งที่ยังไม่ถึงวัยอันควร กลายเป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงกันมากในยุคนี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีอาการเจ็บป่วยมาก่อน ดูแข็งแรงดี เหมือนไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่อยู่ดี ๆ กลับเสียชีวิตแบบที่คนใกล้ชิดไม่ทันได้ตั้งตัว คนไข้กลุ่มนี้มักได้รับการวินิจฉัยว่า เสียชีวิตจากอาการของโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรือเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วอีกโรคหนึ่งซึ่งน่ากลัวและเป็นอันตรายมาก นั่นก็คือ “โรคเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ” หรือ Emergency Aneurysm
เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ
โรคเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ (Emergency Aneurysm) เป็นโรคที่เกิดจากผนังของเส้นเลือดบางส่วนแตก แต่ไม่ได้ทะลุแตกออกมาข้างนอก ไม่มีอาการแสดงใด ๆ เมื่อมีอาการหมายความว่าเลือดได้แตกทะลุออกมาแล้ว และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็จะสูงมาก ที่อันตรายคือโรคนี้คนไข้จะไม่มีอาการอะไรเลย เมื่อมีอาการหมายความว่ามีการแตกเซาะของผนังเส้นเลือดจากผนังชั้นในเข้าไปในชั้นกลางก่อนถึงชั้นนอก โดยเซาะเข้าไปในเส้นเลือด ทําให้เส้นเลือดด้านนอกโป่งออก ส่วนด้านในแฟบเข้ามา ทําให้เลือดที่ไหลไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ
ในสหรัฐอเมริกา แพทย์ตรวจพบโรคนี้ภายหลังการผ่าพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาในคนไข้ที่เสียชีวิตเฉียบพลัน โดยพบว่าภายในผนังของเส้นเลือดมีการแตกเซาะ และครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นโรคนี้จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล”
อาการเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ
อาการของโรคนี้คือ เจ็บหน้าอกร้าวไปถึงด้านหลัง บางคนอาจเจ็บร้าวลงไปถึงช่องท้อง ซึ่งเมื่อมีอาการสิ่งที่ดีที่สุด คือ การมาถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาโดยการผ่าตัดอย่างทันท่วงที ภายใน 48 ชั่วโมง
สำหรับการแตกเซาะของเส้นเลือดเกิดได้ 2 แบบ คือ แตกเซาะจากด้านหน้าไปจนถึงด้านหลังลงไปยังช่องท้องกับแตกเซาะจากด้านหลังเซาะไปในทรวงอกและลงไปที่ช่องท้อง ซึ่งทั้งสองแบบมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่างกัน
ถ้าเส้นเลือดแตกเซาะทางด้านหน้า 90% ของคนไข้จะเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ แต่ถ้าแตกเซาะทางด้านหลัง อันตรายจะน้อยกว่า โอกาสเสียชีวิตมีเพียง 30% โดยสามารถใช้ยาในการรักษาได้ ซึ่งการใช้ยารักษาโอกาสรอดชีวิตมีถึง 70% แต่ถ้าผ่าตัดโอกาสรอดชีวิตจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยที่ประมาณ 80 – 85% ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าตรวจพบการแตกเซาะทางด้านหลัง แพทย์จะใช้ยาในการรักษามากกว่าการผ่าตัด”
ปัจจัยเสี่ยงโรค
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ ส่วนใหญ่เกิดจาก
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เบาหวาน
- สูบบุหรี่
- น้ำหนักเกิน
- เครียด
ยกเว้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรมบางโรคที่มีผลทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ เปราะบาง โรคนี้จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับภาวะเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะมักพบในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึง 60 – 70 ปี แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยลง
ผ่าตัดช่วยชีวิต
มีผู้ป่วยรายหนึ่งอายุเพียง 29 ปีมาโรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกมาก เหนื่อย หายใจไม่ทัน และตัวเขียว หลังผ่านการวินิจฉัยและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครปฐมพบว่าเป็นเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวเข้ามารับการรักษาในกรุงเทพฯ
“เราพบว่าคนไข้ที่มาเป็นผู้ชายอายุน้อยและตัวใหญ่ค่อนไปทางอ้วน ความดันสูง ไม่เคยตรวจสุขภาพ ไม่รู้ว่าตัวเองมีไขมันในเส้นเลือดสูง อยู่ ๆ ก็มีอาการปวดร้าวไปข้างหลัง ขาข้างขวาหมดแรงเดินไม่ได้ ปวดขาข้างซ้ายและหมดแรงตามมา หลังจากผลเอกซเรย์ในคอมพิวเตอร์พบว่าเป็นเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ เซาะลงไป ตั้งแต่ทางด้านหน้าและด้านหลัง เกิดการอุดตันในเส้นเลือดที่ขาสองข้าง ทําให้วัดความดันที่ขาไม่ได้ ส่วนที่ตัวเขียวเพราะออกซิเจนในกระแสเลือดน้อยกว่า 90% และเมื่อลองทําอัลตราซาวนด์หัวใจพบว่า ผู้ป่วยมีลิ้นหัวใจรั่วมาก เนื่องจากการแตกเซาะย้อนกลับมาที่หัวใจทําให้ลิ้นหัวใจรั่ว รวมถึงเซาะลงไปรอบ ๆ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และบางส่วนเซาะไปที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองด้วยการผ่าตัด ต้องใช้ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านที่มีความสามารถถึง 3 – 4 คน ไม่รวมวิสัญญีแพทย์ พยาบาลผู้ช่วย และผู้มีความรู้ทางเทคนิคในการปฏิบัติงาน”
การผ่าตัดหลัก ๆ คือการเปลี่ยนเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจ รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและแขนทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งต้องเป็นทีมผ่าตัดที่มีความพร้อมมาก ๆ ซึ่งก็น่ายินดีที่การผ่าตัดทั้งหมดผ่านพ้นไปด้วยดี จนเวลานี้คนไข้แข็งแรง เป็นปกติกลับบ้านได้ เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อขาที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ร่วมกับการทํากายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนํา ซึ่งความสำเร็จของการผ่าตัดมาจากการมาถึงโรงพยาบาลทันเวลา การเตรียมการที่รวดเร็ว เช่น การจองเลือด เกล็ดเลือด ความพร้อมของอุปกรณ์ที่ทันสมัย สำคัญที่สุดคือ การทำงานของทีมที่มีประสิทธิภาพ
แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นความสำเร็จที่ปลายเหตุเท่านั้น การดูแลสุขภาพร่างกายและการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การกินอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด มันจัด ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียดเป็นประจำ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันตนเองจากโรคเส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะได้มากกว่า