TAVI/TAVR ซ่อมลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัด ลดความเสี่ยงในผู้สูงวัย
การพัฒนาโปรแกรมการรักษาใหม่ ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด TAVI/TAVR ที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ช่วยลดความเสี่ยงขณะผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
ทำความรู้จัก TAVI/TAVR
TAVI และ TAVR คือสิ่งเดียวกัน เป็นการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัด แต่เป็นวิธีการเรียกที่ต่างกันออกไป TAVI หรือ Trans Catheter Aortic Valve Implantation คือ การใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดเข้าไปเพื่อทำหัตถการในหลอดเลือดแดงใหญ่และลิ้นที่กั้นหัวใจช่องล่างซ้าย เป็นคำเรียกในยุโรป ส่วน TAVR หรือ Trans catheter Aortic Valve Replacement ก็มีความหมายและวิธีการรักษาเช่นเดียวกัน แต่เป็นคำเรียกในสหรัฐอเมริกา
“ทั้ง TAVI/TAVR เป็นการซ่อมแซมลิ้นหัวใจอันเก่าที่ใช้การไม่ได้ อย่างเช่น กรณีลิ้นหัวใจที่ตีบมาก ๆ หรือมีแคลเซียมเกาะมาก ๆ ทำให้ลิ้นหัวใจแคบ มีผลตามมาดังนี้ คือ หนึ่ง เมื่อหัวใจบีบตัวแล้ว ลิ้นหัวใจไม่ยอมเปิด ทำให้มีเลือดออกมาน้อย ไม่พอเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเมื่อมีแรงต้าน หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ในระยะแรกหัวใจก็จะปรับให้หนาตัวขึ้นเพื่อสร้างแรงบีบให้ได้มากขึ้น แต่ความสามารถในการคลายตัวช้าลง สอง สำหรับระยะต่อไปเมื่อนานเข้า หัวใจที่หนามาก ๆ เข้า จะขาดความยืดหยุ่น บีบตัวได้ไม่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมา TAVI ในปัจจุบันการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกที่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น และมีโรคแทรกซ้อนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการผ่าตัดเปิดหน้าอกได้ (Surgical Replacement)”
เตรียมตัวก่อนรักษา
หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลวมาแล้ว แพทย์จะใช้วิธีการช่วยชีวิตให้อาการทุเลาก่อน พร้อมตรวจดูการทำงานของอวัยวะส่วนสำคัญ เพื่อให้พร้อมสำหรับการสวนหัวใจ หรือใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ได้ทันที เพราะแพทย์สามารถติดตามทุกขั้นตอนการผ่าตัดจากการเอกซเรย์แบบเรียลไทม์
ฟื้นตัวได้เร็ว
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ ที่บริเวณขาหนีบประมาณ 2 เซนติเมตร และจะใช้เวลาฟื้นตัวเป็นเวลา 3 – 5 วัน โดย 72 ชั่วโมงแรก (3 วัน) จะยังอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการก่อนกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติ กินข้าว ใช้เวลากับลูกหลาน ออกกำลังกาย และมีการพักผ่อนที่เพียงพอ
นวัตกรรมใหม่พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ในประเทศไทยปัจจุบันการรักษานี้ยังคงเป็นทางเลือกเฉพาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่มีทางเลือก ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาทั่วไป เนื่องจากมีข้อมูลการวิจัยที่เพิ่งรวบรวมย้อนหลังเป็นเวลาเพียงไม่กี่ปี ทำให้ยังไม่สามารถติดตามผลในระยะยาวได้ ในขณะที่ยุโรปและอเมริกามีการยอมรับการรักษามากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงมาที่อายุ 75 ปี ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจมีการพัฒนาและเก็บข้อมูลการวิจัยที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนให้มีการรักษาด้วยวิธีนี้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการความรู้และเทคโนโลยีการรักษาที่ตอบโจทย์ต่างกันกับการรักษาคนรุ่นหนุ่มสาว
“การรับมือลิ้นหัวใจผิดปกติที่ดีที่สุด คือ การป้องกันโรคด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันทุกโรคสำคัญในระยะยาว”