หัวใจเต้นเร็ว สัญญาณเตือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นเร็ว สัญญาณเตือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ
แชร์

เมื่อไรที่หัวใจเต้นเร็วจนผิดปกติไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจบ่งบอกว่าร่างกายของคุณกำลังผิดปกติ หรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นควรรู้เท่าทันและพบอายุรแพทย์หัวใจโดยเร็ว จะได้ดูแลรักษาให้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป


รู้จักกับหัวใจเต้นเร็ว

หัวใจเต้นเร็วเป็นอาการที่หัวใจมีอัตราการเต้นเร็วกว่าปกติ โดยปกติหัวใจจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่  60 – 100 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อหัวใจมีอัตราการเต้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไปจะถือว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยสิ่งที่ต้องสังเกตร่วมด้วยคือ ลักษณะการเต้นของหัวใจจะมีจังหวะสม่ำเสมอ หากเต้นเร็วบ้างช้าบ้างก็อาจบ่งบอกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะได้


ปัจจัยที่ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว

ปัจจัยที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วแบ่งออกเป็น

  1.  ปัจจัยภายนอกหัวใจและหลอดเลือด เช่น 
    • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
    • ภาวะการสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากจนเกิดภาวะซีด 
    • การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย
    • การติดเชื้อ มีไข้สูง
    • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
    • ท้องเสีย ถ่ายเหลวปริมาณมาก 
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea – OSA)
    • การรับประทานยาบางชนิด
    • การใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
    • การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
  2. ปัจจัยภายในหัวใจและหลอดเลือด เช่น
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    • ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
    • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
    • โรคลิ้นหัวใจ
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • ภาวะที่เกิดจากไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เช่น Supraventricular Tachycardia – SVT หรือ Wolff Parkinson White Syndrome – WPW และ Atrial Fibrillation – AF เป็นต้น

หัวใจเต้นเร็วบ่งบอกหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การที่หัวใจเต้นเร็วสามารถบ่งบอกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) ได้ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้งต่อนาที และ/หรือมีการเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ได้แก่

  •  หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia – SVT) จากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่อัตราการเต้นของหัวใจมักจะมากกว่าหรือเท่ากับ 150 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia – VT) จากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Sinus Tachycardia) จากการที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความเร็วมากกว่าปกติ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่อัตราการเต้นหัวใจมักจะไม่เกิน 150 ครั้งต่อนาที

สังเกตอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ใจสั่นมากผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด วูบ เป็นลม หมดสติ
  • เจ็บแน่นหน้าอก 
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก
  • เดิน ๆ แล้วรู้สึกคล้ายตกหลุมอากาศ 

ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจจะทำการซักประวัติผู้ป่วยโดยละเอียด จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วย เจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติ และใช้เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อผลการตรวจที่ชัดเจน ได้แก่

  1.  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (12-Lead Electrocardiography, ECG or EKG) เป็นการตรวจมาตรฐานของหัวใจ โดยวัดการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ สามารถตรวจได้ทันที เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมานานพอก่อนมาถึงโรงพยาบาล และสามารถตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ได้ด้วย
  2. เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24 – 48 ชั่วโมง (Holter Monitoring) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 – 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องบันทึกไว้ติดตัวตลอดเวลา เครื่องจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้แม้ไม่มีอาการ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกวันหรือเกือบทุกวันในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่นาน ก่อนมาถึงโรงพยาบาล
  3. เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา (Event Recorder) เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือสามารถพกพาไปที่ต่าง ๆ ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการให้นำเครื่องมาทาบที่หน้าอกแล้วกดปุ่มบันทึก เครื่องจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการแล้วส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์พื้นฐานที่บ้านมายังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย เดือนละประมาณ 2 – 3 ครั้ง มีข้อจำกัดคือผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติกรณีที่เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะจะไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้
  4. เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable Loop Recorder, ILR) มีขนาดเล็กลักษณะคล้าย USB Flash Drive แพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย จากนั้นเครื่องจะบันทึกการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บคลื่นไฟฟ้าหัวใจเฉพาะช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะตามที่ได้โปรแกรมไว้ก่อนหน้าหรือเมื่อผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนาน ๆ ครั้ง แต่อาการค่อนข้างรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยหมดสติแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
  5. การตรวจวัดสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน (EST: Exercise Stress Test) เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน (Treadmill) เพื่อกระตุ้นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกแรง เหมาะกับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และยังช่วยตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ด้วย 
  6. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) สามารถตรวจดูความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ ทั้งขนาด รูปร่าง ลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจ เช่น ผนังกั้นหัวใจหนาตัวผิดปกติ ห้องหัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วผิดปกติ ผนังกั้นหัวใจรั่ว เป็นต้น
  7. การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการนำไฟฟ้าของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจและกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้

หัวใจเต้นเร็ว สัญญาณเตือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ


การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วแพทย์จะประเมินทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้แก่

  1. การใช้ยาเพื่อปรับจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ (Antiarrhythmic Drug) ให้ใกล้เคียงระดับปกติ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ลดภาวะแทรกซ้อน และลดความรุนแรงที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต
  2. การช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Cardioversion) เพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาเต้นในอัตราที่ปกติ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  3. การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA) แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจตรวจหาตำแหน่งความผิดปกติภายในหัวใจ จากนั้นจะทำการจี้ด้วยคลื่นวิทยุที่เปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานความร้อนเข้าไปตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ ปัจจุบันมักใช้ร่วมกับระบบสามมิติ (3D Mapping) เพื่อให้มองเห็นตำแหน่งได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ช่วยเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ซึ่งวิธีนี้มีโอกาสรักษาสำเร็จสูงมากกว่า 90% โดยจะต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่มีความชำนาญการ
  4. การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร (Permanent Pacemaker) แพทย์จะฝังเครื่องที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ไหปลาร้า เพื่อช่วยให้การเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือหัวใจหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ 
  5. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวร (Automated Implantable Cardioverter – Defibrillator, AICD) แพทย์จะฝังเครื่องบริเวณหน้าอกเพื่อช่วยตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและช็อกไฟฟ้าหัวใจทันทีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว  วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลัง และผู้ป่วยที่มีหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ
  6. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและช่วยการบีบตัวของหัวใจ(Cardiac Resynchronization Therapy – CRT) เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาให้บีบตัวได้สอดคล้องกัน ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของหัวใจน้อยและมีความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและตรวจเช็กหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ดื่มน้ำให้ได้ปริมาณที่เพียงพอกับร่างกายในแต่ละวัน 
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ควรจะต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและมีการตรวจติดตามอาการกับแพทย์เป็นประจำ

 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการ หากใจสั่นผิดปกติ วูบ หน้ามืด เวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย คล้ายจะเป็นลม ให้รีบพบอายุรแพทย์โรคหัวใจทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ 

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com