ภัยเงียบใกล้ตัวนักกีฬา ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ในขณะที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น ระดับน้ำตาล โปรตีน และเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้เกล็ดเลือดมาเกาะเป็นกลุ่มกันมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ในคนปกติร่างกายสามารถสร้างกระบวนการสลายลิ่มเลือดเพิ่มมากขึ้นในขณะเดียวกัน ทำให้หักล้างหรือลดภาวะการเกาะเป็นกลุ่มของเกล็ดเลือด แต่ผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่เดิมจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลันได้ ถ้าออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป
รู้จักภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างทันที สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่เจ้าตัวอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน และถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ จะเรียกภาวะนี้ว่า “Sudden Cardiac Death” ซึ่งภาวะนี้เกิดกับใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่นใดมาก่อน
สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรือสาเหตุภายนอกที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นก็ได้ สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มักเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ซึ่งภาวะนี้การออกกำลังกายเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันยังอาจเกิดจาก ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย (Premature Coronary Artery Disease) หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด (Congenital Coronary Artery Anomalies) เช่น โรค Marfan’s Syndrome ส่วนสาเหตุภายนอกที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น ภาวะที่มีวัตถุกระแทก อย่างรุนแรงที่บริเวณหน้าอก ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า Commotio Cordis นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาโด๊ปเพื่อการแข่งขัน เช่น การใช้สาร Anabolic – Androgenic Steroids ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน
