ออกกำลังกายอย่างไรหลังเคยหัวใจวายเฉียบพลัน

หลังจากเกิดอาการหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายจะไม่พอเพียง หากได้รับการรักษาภายใน 1 ชั่วโมงแรก อันตรายหรือความเสี่ยงต่อชีวิตอาจลดลง และสามารถกลับไปทำงาน หรือใช้ชีวิตปกติได้ แต่การเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซ้ำได้อีก มีการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายมีผลให้คนที่เป็นโรคหัวใจ มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล แต่จะออกกำลังกายอย่างไรเพื่อให้ไม่เกิดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบให้เกิดความเครียดต่อหัวใจ
เตรียมตัวออกกำลังกายหลังเคยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
การเตรียมตัวออกกำลังกายในผู้ป่วยหลังเคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันควรปฏิบัติดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย หลังจากมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูหลายสัปดาห์ก่อนที่ร่างกายจะกลับมาทำงานได้ปกติ แพทย์อาจจะให้ตรวจ Stress Test ก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อประเมินความสามารถของการทำกิจกรรม แพทย์อาจแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้ขึ้นอยู่กับสุขภาพแต่ละบุคคล
- ออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรออกกำลังกายแบบที่ร่างกายใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Exercise) เช่น การยกเวท การวิดพื้น โดยหลักการออกกำลังกายต้องค่อยเป็นค่อยไป ในช่วง 2 – 4 สัปดาห์แรกควรเดินในที่ราบ เริ่มจาก 15 – 30 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาจนไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
- การเล่นกีฬา อาจพิจารณาหลัง 4 สัปดาห์และควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสมควรเล่นกีฬาชนิดใดได้บ้าง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น
- สังเกตตัวเองก่อนและหลังออกกำลังกาย ถ้ามีอาการผิดปกติ รู้สึกเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ มึน หายใจไม่อิ่ม ควรหยุดออกกำลังกายทันที ถ้าอาการไม่หายไปหลังจากหยุดพักควรรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถพยาบาลทันที

สอบถามเพิ่มเติมที่
ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com