ควันร้ายทำลายปอด

ควันร้ายทำลายปอด
แชร์

หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าควันจากบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ไม่ใช่แค่ควันจากบุหรี่เท่านั้น เพราะมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 และควันจากธูปก็มีผลทำร้ายทำลายปอดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง 


ฝุ่นควันทำร้ายปอด

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอดที่เกิดจากฝุ่นควัน ได้แก่ 

  1. บุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งเสี่ยงมาก ยิ่งสูบนานก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 Pack-year ในช่วงอายุ 55 – 75 ปีจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (high risk) ที่จะเกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่จากทางฝั่งยุโรปที่ระบุว่า แม้คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 Pack-year ก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน ดังนั้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจึงควรต้องพบแพทย์และตรวจเช็กปอดอย่างสม่ำเสมอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ ที่สำคัญงดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งปอดได้ดีที่สุด
  2. ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองควัน (Particulate Matter หรือ PM) 2.5 คือ สสารขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หลายคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมลพิษทางอากาศ โดยทวีปเอเชียพบปัญหานี้ค่อนข้างมาก รวมถึงไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะประชากรได้รับมลพิษ PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ของโลก และมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชื่อว่า EGFR Mutation ที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดได้ ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียมากกว่ายุโรปและอเมริกัน เมื่อฝุ่นควันขนาดเล็กเข้าไปอยู่ในปอด ร่างกายจะพยายามกำจัด แต่หากกำจัดไม่ได้จะเข้าไปฝังตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ในระยะยาวพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง นำไปสู่โรคมะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นหากวันไหนที่ค่า PM 2.5 สูงมากไม่ควรออกนอกบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านควรใส่หน้ากากที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5
  3. ธูป การใช้ธูปที่เพิ่มขึ้นและได้รับควันธูปเป็นระยะเวลายาวนานส่งผลกระทบกับเนื้อเยื่อปอดและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ ซึ่งไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ เพราะธูปมีสารก่อมะเร็งอย่างเบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน อีกทั้งทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 และ 10 ไมครอน ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด เช่น มีประวัติมะเร็งปอดในครอบครัว โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด แนะนำให้เลี่ยงการจุดธูปและสถานที่ที่มีควันธูป 

ควันร้ายทำลายปอด

ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในปัจจุบันสามารถทำได้โดยตรวจเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low – Dose Computed Tomography Scan: LDCT) สามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจน ให้ภาพสามมิติที่รายละเอียดดีกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป ตรวจได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือเจาะเลือด ใช้เวลาตรวจไม่นานประมาณ 5 – 15 นาที ช่วยให้พบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสรักษาหายได้มากขึ้น เพิ่มอัตราการรอดชีวิต หากอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรตรวจประจำทุกปี


รักษามะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นโรคที่คนเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด เพราะระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการมักแสดงอาการและตรวจเจอเมื่อลุกลามไปในระยะท้าย ๆ แล้ว การรักษามะเร็งปอดจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นสำคัญ

  • ระยะที่ 1 สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง โดยใช้การผ่าตัดส่องกล้อง Video – Assisted Thoracic Surgery (VATS) เพื่อผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบหรือผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy – ENB) ใช้เทคโนโลยีระบบ GPS ค้นหาตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณปอดได้อย่างชัดเจนถึงแม้ว่าก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ทำให้ผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ระยะที่ 2 รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลักเหมือนในระยะที่ 1 แล้วตามด้วยการรักษาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ การใช้ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง
  • ระยะที่ 3 การรักษาจะเป็นการผสมผสานระหว่างการทำเคมีบำบัด การใช้ยาพุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับการผ่าตัดและฉายแสง โดยจะใช้ทีมแพทย์ร่วมรักษา (MDT, multidisciplinary team) ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีแนวทางการรักษาแตกต่างกันแล้วแต่รอยโรค ในบางกรณีการผ่าตัดจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น มีการตัดต่อเส้นเลือดหรือหลอดลม เป็นต้น 
  • ระยะที่ 4 เน้นการรักษาด้วยยา ทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อประคับประคองอาการ อาจทำการผ่าตัดหรือฉายแสงในผู้ป่วยบางรายเพื่อบรรเทาอาการ


การหลีกเลี่ยงฝุ่นควันทุกประเภทที่เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอดย่อมช่วยให้สุขภาพปอดแข็งแรงที่สำคัญควรตรวจเช็กสุขภาพปอดตามคำแนะนำของแพทย์และหมั่นสังเกตตัวเองหากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com