ผู้ป่วยโรคหัวใจยิ่งออกกำลังกายยิ่งดี
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดี กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ลดการสะสมของตะกรันที่หลอดเลือด ช่วยลดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีและมีสุขภาพใจที่แข็งแรง
ผู้ป่วยหัวใจเตรียมตัวออกกำลังให้พร้อม
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจควรออกกำลังกายโดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ดังนี้
- ผู้ป่วยหัวใจเข้ารับการประเมินสภาพร่างกายจากแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
- อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ จะตรวจการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย ขณะเดียวกันผู้ป่วยได้เรียนรู้อาการสัญญาณของโรคและภาวะแทรกซ้อน
- แพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ กำหนดความแรงของการออกกำลังกาย โดยจะทดสอบก่อน – หลังออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน
- ระยะเวลาในการออกกำลังกาย ควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ควรอุ่นเครื่อง (Warm – Up) และเบาเครื่อง (Cool – Down) ก่อนหยุดออกกำลังกายเสมอ ทั้งนี้ควรมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายและมีโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารด้วยทุกครั้ง
- ไม่ออกกำลังกายหลังอิ่มอาหารทันที ควรรอให้ท้องว่างอย่างน้อย 1 ½ ชั่วโมง
- งดออกกำลังกายถ้ามีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือร่างกายอ่อนเพลีย
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างและหลังออกกำลังกายเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ขณะออกกำลังกาย
- สถานที่ออกกำลังกายเหมาะสม ควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่แออัด อากาศไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป สวมเสื้อผ้าที่ระบายถ่ายเทความร้อนได้ดี และสวมใส่รองเท้าที่สบาย
- ควรมียาอมใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัว กรณีที่มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกาย ควรหยุดและปรึกษาแพทย์
ออกกำลังให้เหมาะกับผู้ป่วยหัวใจ
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหัวใจ ได้แก่
- เดินเร็ว เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกช่วงอายุ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยจนเกินไป ควรออกแรงเดินเร็วให้เหนื่อยระดับปานกลาง ให้อัตราเต้นของหัวใจอยู่ในระดับ 60 – 70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (สูตรเท่ากับ 220 – อายุ (ปี)) อย่างน้อยนาน 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์
- วิ่ง ใช้เวลาน้อยกว่าเดินครึ่งหนึ่ง โดยให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อหัวใจเท่ากับการเดินเร็ว ทั้งนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงสูบฉีดโลหิตได้แรงขึ้น และช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น เคลื่อนไหวตัวได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเครียดและนอนหลับได้สนิทขึ้น
- ว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง กล้ามเนื้อร่างกายมีความยืดหยุ่นดี นอกจากน้ำจะช่วยพยุงตัว ทำให้ไม่เหนื่อยมากแล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บและอาการเจ็บปวดของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายได้อีกด้วย
- รำกระบอง เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจสูงอายุ เพราะเป็นการบริหารร่างกาย บริหารกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อครบทุกส่วนตามหลักสรีรวิทยา ท่ารำกระบองประยุกต์มาจากศาสตร์ของการออกกำลังกายหลายแขนง นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและระบบทรงตัวได้สมดุล ช่วยลดการหกล้มแล้ว ยังช่วยให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจและระบบไหลเวียนทำงานได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ สิ่งสำคัญในการออกกำลังกายคือ การรู้จักประเมินอาการของตัวเอง ทั้งการวัดชีพจร ความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในร่างกาย (ถ้ามี) ระดับความเหนื่อยของร่างกาย รวมถึงสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก มึน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณออกกำลังกายหนักเกินไป ควรหยุดและปรึกษาแพทย์ทันที
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายเพียงลำพัง เนื่องจากมีภาวะเสี่ยงต่อการวูบได้ง่าย จึงควรมีคนใกล้ชิดอยู่ใกล้ ๆ พร้อมอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หากเกิดอาการผิดปกติกับหัวใจแบบเฉียบพลัน