ถาม - ตอบเรื่องที่คุณอยากรู้เมื่อหัวใจเต้นเร็ว
เมื่อมีอาการหัวใจเต้นเร็วหลายคนมักกังวลว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่และมีคำถามมากมายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเข้าใจที่ถูกต้องไม่เพียงช่วยคลายความกังวล แต่ยังช่วยให้ดูแลหัวใจได้อย่างถูกวิธี
ถาม : ทำไมหัวใจถึงเต้นเร็ว
ตอบ : โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง/นาที แต่หากหัวใจเต้นเร็วอัตราการเต้นของหัวใจจะสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที ส่งผลให้เหนื่อย หอบ หายใจไม่สะดวก ซึ่งมาจากการที่มีปัจจัยไปรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หัวใจไม่ได้ปั๊มเลือดตามปกติ
ถาม : หัวใจเต้นเร็วเกิดจากสาเหตุใด
ตอบ : หัวใจเต้นเร็วเกิดจากการที่มีปัจจัยเข้าไปรบกวน ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ การออกกำลังกาย เป็นไข้สูง ภาวะตื่นเต้น ตกใจ กลัว ภาวะขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เสียเลือดมาก ภาวะเครียด วิตกกังวล การดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ฯลฯ และปัจจัยภายใน ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
ถาม : นั่งเฉย ๆ แล้วหัวใจเต้นเร็วเพราะอะไร
ตอบ : อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มีไข้สูง ภาวะซีด การดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณมาก หรือ การรับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะสัญญาณไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เป็นต้น
ถาม : นอนแล้วรู้สึกหัวใจเต้นเร็วเพราะอะไร
ตอบ : เวลานอนแล้วรู้สึกหัวใจเต้นเร็วอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ อย่างโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมถึงโรคปอดอย่างหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ความเครียดและความวิตกกังวล เป็นต้น
ถาม : ตื่นเต้นแล้วทำไมหัวใจเต้นเร็ว
ตอบ : เวลาที่รู้สึกตื่นเต้นแล้วหัวใจเต้นเร็วอาจเป็นเพราะตื่นเต้นหรือตกใจอย่างรุนแรงในช่วงเวลานั้น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจได้อีกด้วยในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ถาม : หัวใจเต้นเร็วเพราะแพนิกจะมีอาการอย่างไร
ตอบ : หัวใจเต้นเร็วเป็นหนึ่งในอาการของโรคแพนิก หรือที่รู้จักกันว่าเป็นโรคตื่นตระหนก ตกใจสุดขีด วิตกกังวล จากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วและแรง เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่สะดวก
ถาม : ทำไมเป็นไข้แล้วหัวใจเต้นเร็ว
ตอบ : เวลาร่างกายเป็นไข้ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วได้ เพราะเวลาที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานมากขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำทางเหงื่อและลมหายใจมากขึ้น ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักขึ้น ชีพจรจึงเต้นเร็วขึ้น
ถาม : หัวใจเต้นเร็วตลอดเวลาเกิดขึ้นได้หรือไม่ อันตรายแค่ไหน
ตอบ : สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีสัญญาณไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เช่น Atrial fibrillation, Atrial flutter เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่นผิดปกติ เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ วูบ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจโตขึ้นแล้วเกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังและหัวใจล้มเหลวตามมา หรืออาจจะเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจแล้วอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
ถาม : หัวใจเต้นเร็วเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
ตอบ : หัวใจเต้นเร็วอาจจะเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีสัญญาณไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เช่น Paroxysmal SVT, Atrial Fibrillation, Ventricular Tachycardia เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีโรคหัวใจอย่างอื่นซ่อนอยู่ด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจโตขึ้นแล้วเกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังและหัวใจล้มเหลวตามมานำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
ถาม : หัวใจเต้นเร็วแค่ไหนถือว่าผิดปกติและควรไปพบแพทย์
ตอบ : หากสังเกตตัวเองแล้วมีอาการหัวใจเต้นเร็ว คืออัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที ติดต่อกันนานหลายนาทีไปจนถึงเป็นชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อตรวจเช็กหัวใจอย่างละเอียด
ถาม : การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็วมีวิธีใดบ้าง
ตอบ : การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็วมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (12-Lead Electrocardiography, ECG or EKG), การตรวจวัดสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน (EST: Exercise Stress Test), การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram), การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) รวมถึงการใช้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจตามที่แพทย์แนะนำ
ถาม : หากสังเกตตัวเองแล้วหัวใจเต้นเร็วควรทำอย่างไร
ตอบ : หากมีอาการหัวใจเต้นเร็วอย่าปล่อยทิ้งไว้ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพื่อตรวจเช็กสุขภาพหัวใจโดยเร็ว หากพบความผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที เพราะในบางครั้งอาจเป็นโรคหัวใจแบบที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงโรค ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เครียดจนเกินไป พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หากมีโรคประจำตัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด