ภาวะหัวใจโต ดูแลให้ทันก่อนเป็นหนัก

ภาวะหัวใจโต ดูแลให้ทันก่อนเป็นหนัก
แชร์

ภาวะหัวใจโตไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิดและความน่ากลัวอยู่ตรงที่ไม่แสดงอาการ รู้ตัวอีกทีอาจเป็นหนักจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการสังเกต รู้เท่าทัน และรีบทำการตรวจรักษา คือหัวใจสำคัญที่ช่วยลดความรุนแรงและดูแลหัวใจไม่ให้โตยิ่งกว่าเดิม


ภาวะหัวใจโตคืออะไร

ภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนามากกว่าปกติ จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจยืดออกหรือหนาขึ้น โดยอาจเป็นเพียงชั่วคราวแล้วรักษาจนหายหรืออาจเป็นถาวรไปตลอดชีวิต


ภาวะหัวใจโตเกิดจากอะไร 

สาเหตุของภาวะหัวใจโต เกิดจากภาวะหรืออาการเจ็บป่วยที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักหรือกล้ามเนื้อหัวใจเกิดความเสียหาย เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ลิ้นหัวใจตีบและรั่ว นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น


ภาวะหัวใจโตมีอาการอย่างไร

ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเป็นไปนาน ๆ อาการจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการที่พบคือ

  • เหนื่อยง่าย หอบ หายใจลำบาก
  • อ่อนเพลีย ใจสั่น เวียนศีรษะ
  • ขาบวม น้ำหนักเพิ่ม
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • ไอเหนื่อย
  • แน่นหน้าอกเมื่อนอนราบ

ทั้งนี้ หากเจ็บหน้าอก หายใจหอบรุนแรง ปวดหน้าอก เป็นลม ควรต้องรีบพบแพทย์ทันที


ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจโต ต้องเอกซเรย์ทรวงอกทั้งปอดและหัวใจ เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อให้เห็นลักษณะห้องหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ นอกจากนี้อาจตรวจเลือด ตรวจ MRI ตรวจ CT Scan และเจาะชิ้นเนื้อหัวใจ ไปตรวจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ถูกต้อง นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม


ภาวะหัวใจโต ดูแลให้ทันก่อนเป็นหนัก

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจโต

การรักษาภาวะหัวใจโต มีหลายวิธีโดยจะรักษาตามสาเหตุเป็นสำคัญ ได้แก่ การใช้ยาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์สำหรับภาวะหัวใจโตเพื่อให้หัวใจเต้นเป็นปกติ การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติฝังไว้บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจจังหวะหัวใจและกระตุ้นให้หัวใจเต้นปกติ ตลอดจนการผ่าตัดลิ้นหัวใจ และการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ


ใครเสี่ยงภาวะหัวใจโต

ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะหัวใจโต ได้แก่ ผู้สูงวัย ผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ผู้ติดสารเสพติดและสุรา ผู้ป่วยโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ โรคโลหิตจาง รวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ


ป้องกันภาวะหัวใจโต

การป้องกันภาวะหัวใจโต สามารถทำได้โดยงดสูบบุหรี่ เลี่ยงควันบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ ตลอดจนรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจโต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีอายุเกิน 35 ปี ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจโต

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจโต

คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะหัวใจโต โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com