นอนไม่มีคุณภาพเสี่ยงหัวใจโต
การนอนหลับพักผ่อนให้สนิท นอนให้เป็นเวลา นอนครบตามจำนวนที่เหมาะสม ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่าการนอนน้อยไป นอนมากเกินไป นอนกรนเสียงดัง และนอนไม่หลับ เสี่ยงหัวใจโต และโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบตรวจเช็กหัวใจและปรับพฤติกรรมการนอนโดยเร็ว
ตัวการนอนไม่ดี
- ปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่
- นาฬิกาชีวิตรวน ทำงานดึก นอนไม่เป็นเวลา
- ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
- โรคหัวใจและโรคทางสมอง
- ปัจจัยจากพฤติกรรม ได้แก่
- ออกกำลังกายหนักเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- นิโคตินจากการสูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- แสงไฟหรือเสียงดังรบกวน
- อุณหภูมิห้องไม่เหมาะสม
- มลภาวะทางอากาศ
ปัญหาการนอนทำร้ายหัวใจ
นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก National Library of Medicine ระบุว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนชั่วโมงการนอนหลับโดยเฉลี่ยสั้นลง 1.5 – 2 ชั่วโมงต่อคนและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระยะเวลาการนอนหลับในวันทำงานลดลง 37 นาที ซึ่งการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันส่งผลเสียต่อร่างกาย สมองลดการหลั่งเมลาโทนิน กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน นำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจโตในที่สุด
ข้อมูลจาก Frontiers ระบุว่าการนอนน้อยส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ได้มากกว่าปกติถึง 10% และเกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังมากกว่าปกติถึง 13% ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงขึ้น
นอกจากนี้การนอนน้อยเกินไปยังส่งผลต่อการรับประทานอาหาร เพราะผู้ที่นอนน้อยมักเลือกอาหารให้พลังงานสูงและขาดความสมดุล ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวานตามมาได้ มีข้อมูลงานวิจัยจาก PLOS ระบุว่าผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มน้ำหนักเกินมากกว่าผู้ที่นอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
นอนมากกว่า 9 ชั่วโมง
สำหรับผู้ที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนอนดึก ตื่นสาย คือนอนหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ มีงานวิจัยจาก JAMA Internal Medicine ระบุว่า การนอน 9 ชั่วโมงขึ้นไปต่อคืนเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ 38%
นอนกรน
การนอนกรนมักพบในผู้ที่มีความเครียด ผู้ที่มีรูปร่างท้วม ผู้ที่มีโรคอ้วน ทำให้นอนหลับไม่สนิท มีความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้หัวใจและสมองขาดออกซิเจนชั่วคราวขณะนอนหลับ มีงานวิจัยจาก ScienceDirect ระบุว่า การหยุดหายใจหรือมีทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ได้มากกว่าคนที่นอนปกติถึง 5 เท่า ซึ่งภาวะนี้ทำให้ห้องหัวใจโต เกิดภาวะลิ่มเลือดในหัวใจที่สามารถหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้เป็นอัมพาตได้มากกว่าคนที่นอนปกติถึง 5 เท่าเช่นเดียวกัน
นอนไม่หลับไม่ลึก
หากนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับไม่ลึกย่อมทำให้ร่างกายไม่ได้ซ่อมแซมอย่างเต็มที่ มีข้อมูลจาก American Heart Association ระบุว่า การนอนไม่หลับ นอนหลับไม่ลึก นอนหลับไม่สนิท กระตุ้นความดันโลหิตกับชีพจรให้ทำงานหนักขึ้น กระตุ้นไขมันและน้ำตาลให้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกาย การทำงานของหัวใจลดลง เส้นเลือดเสื่อมเร็ว ส่งผลกับหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนนอนปกติถึง 2 เท่า
ตรวจเช็กการนอนกับหัวใจ
การตรวจเช็กพฤติกรรมการนอนที่มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ทั้งเวลาเข้านอน เวลาตื่นนอน กิจกรรมก่อนเข้านอน ระยะเวลาในการทำกิจกรรมก่อนเข้านอน ขณะนอนหลับมีการตื่นกลางดึก กรน หรือขยับขาหรือไม่ เมื่อตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่งหรือไม่ เป็นต้น
จากนั้นจะส่งตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อประเมินคุณภาพการนอน ลักษณะคลื่นสมอง และปริมาณออกซิเจนในร่างกาย ทั้งยังสามารถนำข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะนอนหลับมาประเมินภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะนอนหลับได้ ซึ่งมักสัมพันธ์กับอาการผิดปกติของหัวใจ และอาจตรวจหัวใจเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางหัวใจ ได้แก่ ตรวจสมรรถภาพของหัวใจ (EST – Exercise Stress Test) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG – Eletrocardiogram) เป็นต้น
ซึ่งปัญหาการนอนที่พบแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นสำคัญ เช่น นอนน้อยต้องสร้างสุขนิสัยการนอนใหม่ นอนมากไป นอนไม่หลับ หรือนอนกรนต้องตรวจเช็กการนอนเพิ่มเติมแล้วรักษาตามสาเหตุ รวมถึงการทำแบบคัดกรองตามที่แพทย์แนะนำ
เทคนิคนอนให้ดีต่อหัวใจ
- ชั่วโมงการนอนที่ดีที่สุดคือ 7 – 8 ชั่วโมง
- สร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี
- กำหนดเวลาเข้านอนให้คงที่ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือวันทำงาน ไม่ต่างกันเกินกว่า 1 ชั่วโมง เช่น ในวันทำงานเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอน 6 โมงเช้า ในวันหยุดอาจเข้านอน 5 ทุ่ม ตื่นนอน 7 โมงเช้า เป็นต้น
- ห้องนอนต้องมืด เงียบ และเย็น ไม่ควรมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ต้องไม่ออกกำลังกายหนักและนานเกินไป เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับได้ และไม่ควรออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- จัดการความเครียดและความวิตกกังวล เพราะส่งผลให้นอนไม่หลับได้ อาจทำสมาธิ ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย
- หากมีปัญหาการนอนอย่างนอนกรน นอนหลับไม่สนิท หยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบพบแพทย์ทันที
เพราะคุณภาพการนอนเป็นเรื่องสำคัญ หากนอนไม่ดีนอกจากส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ยังส่งผลเสียกับหัวใจ ดังนั้นปรับพฤติกรรมการนอนตั้งแต่วันนี้ หมั่นสังเกตตัวเอง และตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้มีสุขภาพการนอนที่ดีและมีหัวใจที่แข็งแรง
Ref.
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4791534/
- https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fgene.2021.583658/full
- https://journals.plos.org/plosone/article/figure?id=10.1371/journal.pone.0182195.g001
- https://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/article-abstract/215006
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1389945712003371
- https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/01.HYP.0000217362.34748.e0