โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
เรามักจะเข้าใจกันว่าอาการปวดน่อง ปวดขา เกิดจากสาเหตุของโรคในระบบกระดูกและข้อ หรือเป็นโรคของระบบประสาท หรือบางคนคิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลาที่เดินหรือออกกำลังกาย จริง ๆ แล้ว อาการดังกล่าวเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการอุดตันหรือมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
รู้จักหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
หลอดเลือดแดงส่วนปลาย หมายถึง หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยกเว้นหัวใจและสมอง เช่น หลอดเลือดแดงที่แขน ขา มือ เท้า ไต ในช่องท้อง ซึ่งหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีหน้าที่เลี้ยงทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาทให้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าหลอดเลือดหัวใจ
สาเหตุโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลายเกิดจากการตีบ ตัน หรือมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดของผู้ที่มีความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน หรืออายุที่มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงผิดปกติ
อาการโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา
- ปวดเท้า ปวดน่อง โดยเฉพาะเวลาที่เดินหรือออกกำลังกาย
- เท้ามีอาการชาหรือสีซีดลง ในบางรายอาจมีอุณหภูมิที่ผิวหนังเย็นลง
- แผลที่เท้าหรือส้นเท้าที่รักษายาก หายช้า มักพบในผู้ที่มีเบาหวานร่วมด้วย บางครั้งแผลอาจลุกลามจนเกิดเนื้อเน่าตาย
***อาการเหล่านี้อาจมีได้ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
การตรวจวินิจฉัยโรค
ความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยโรค นอกจากช่วยหยุดยั้งอาการของโรคโดยเฉพาะที่ขาได้แล้ว ยังมีความสำคัญในการช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแดงของหัวใจและสมองได้อีกด้วย การตรวจวินิจฉัยที่ทำได้คือ การวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่แขนเปรียบเทียบกับที่ข้อเท้า โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ABI (Ankle Brachial pressure Index) การวัด ABI คือ ค่าอัตราส่วนของความดัน Systolic ของข้อเท้าเทียบกับค่าความดัน Systolic ของแขนในแต่ละข้าง ค่าปกติของ ABI คือ 1
หลักการคือ ค่าความดันของหลอดเลือดที่ขาควรเท่ากับหรือมากกว่าค่าความดันของหลอดเลือดที่แขน ถ้าน้อยกว่าแสดงว่าน่าจะมีการตีบตันของหลอดเลือดข้างนั้น ๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถวินิจฉัยโรคได้ในเบื้องต้น โดยไม่มีความเสี่ยงต่อผู้ป่วย หากแพทย์ต้องการดูรายละเอียดมากขึ้นจะใช้เครื่องมือทางรังสีวินิจฉัย เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (64 – Slice CT Scan) หรือเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มาช่วยตรวจดูรายละเอียดของหลอดเลือด ส่วนการตรวจที่ให้รายละเอียดและชัดเจนมากที่สุดคือ การตรวจด้วยวิธีสวนหลอดเลือด หรือ Angiogram
รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
วิธีการรักษาโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือด การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่การรับประทานยาร่วมกับการออกกำลังกายของขา กรณีเป็นมากขึ้นอาจใช้วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) กรณีที่มีความจำเป็นหรือโรครุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเชื่อมต่อหลอดเลือด
ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
การป้องกันโรคต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น - หยุดสูบบุหรี่
- ควบคุมเบาหวาน ไขมัน และความดัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรใช้วิธีการเดินหรือปั่นจักรยาน การออกกำลังกายจะเห็นผลได้ต้องทำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
- เมื่อมีอาการปวดเท้า ปวดน่อง โดยเฉพาะเวลาเดินหรือออกกำลังกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที