ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกับการฉีดวัคซีน COVID-19
หลายคนกังวลกับการฉีดวัคซีน COVID-19 ในเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจจะเกิดความกังวลมากเป็นพิเศษ ดังนั้นการเข้าใจให้ถูกต้องและเตรียมตัวให้เหมาะสมก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ
กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เสี่ยงรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง หากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสสูงมากที่จะพัฒนาไปเป็นโรคที่รุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีอาการเฉียบพลันและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- ผู้ป่วยโรคความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง
- ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่ที่มีอาการหัวใจล้มเหลว
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรังที่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะรุนแรงหรือผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคอ้วนรุนแรง โดยเฉพาะถ้ามีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่คุมไม่ได้ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
ข้อดีของวัคซีนโควิด-19 กับผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือดตามที่กล่าวไปทั้งหมด ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันที ถ้าควบคุมอาการของโรคได้หมดและอาการสงบแล้ว เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 เพราะหากป้องกันตัวเองไม่ได้และได้รับเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสามารถต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้ โดยจะมีผลดังต่อไปนี้
- ถ้าภูมิคุ้มกันสูงมากพอจะสามารถฆ่าเชื้อได้
- ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อในร่างกาย ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถแบ่งตัว ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายได้
- เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าไปในเซลล์ได้จึงไม่เกิดการติดเชื้อ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ถ้าตนเองมีโรคหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้ว มีโอกาสติดเชื้อชนิดรุนแรงจนต้องเข้า ICU และโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
- หากเชื้อไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวในร่างกาย เชื้อจะไม่สามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ เป็นการป้องกันและลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- หากทุกคนมีภูมิคุ้มกันอยู่ในร่างกาย เชื้อโควิด-19 จะไม่สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป จึงเป็นการตัดวงจรการระบาดและเป็นการตัดวงจรการกลายพันธุ์ของเชื้อไปด้วย
เตรียมพร้อมผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนฉีดวัคซีน COVID-19
การเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ได้แก่
- ตรวจสอบอาการของโรคที่เป็นอยู่ว่ามีอาการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต้องพิจารณาว่ามีอาการที่เป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรงหรือออกกำลังกายบริเวณกลางหน้าอกหรือร้าวไปแขนซ้าย ฯลฯ และโรคของหลอดเลือดหัวใจมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลันร่วมด้วย ได้แก่ เหนื่อย นอนราบไม่ได้ หรือต้องนอนหมอนสูง หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย
หากมีอาการทั้งหมดตามที่กล่าวข้างต้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาให้หายและดีขึ้น ผู้ป่วยถึงจะสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ ทั้งนี้ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าระยะเวลาควรจะเป็นเท่าไรหลังจากรักษาจนหายแล้วถึงจะได้รับการฉีดวัคซีนได้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาในผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป โดยอาจจะให้รับวัคซีนเมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่พร้อมออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับบ้าน หรือช่วงที่ผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้วและติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอกคือให้มาตามนัดหมายของแพทย์
- กรณีผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความดันโลหิตสูงตัวบนมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนฉีดวัคซีน โดยจะต้องควบคุมความดันโลหิตตัวบนให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอทในวันก่อนมารับวัคซีน
- กรณีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิด Warfarin ถ้าระดับ INR คงที่มาตลอดและ INR ต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีผลระดับ INR ก่อนหน้านี้อยูในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด (ไม่จําเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาและไม่จําเป็นตองตรวจ INR ก่อนรับวัคซีน) สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก 25G หรือ 27G ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แล้วกดตําแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบเย็นต่อด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น
- สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel, Ticaglelor หรือ Prasugrel สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องงดยาก่อนฉีด ควรใช้เข็มขนาดเล็ก 25G หรือเล็กกว่า และไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนนานอย่างน้อย 5 นาทีและแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ
บุคคลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งก่อนและหลังการฉีด สามารถทํากิจวัตรประจําวันได้ตามปกติ (เช่น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งชา กาแฟ ยาต่าง ๆ ตลอดจนทําหน้าที่การงานที่เคยทําปกติได้) และไม่ควรออกกําลังกายหนักกว่าที่เคยทําปกติ หรือพักผ่อนน้อยกว่าปกติในช่วง 1 – 2 วันก่อนและหลังการได้รับวัคซีน
ในกรณีที่จําเป็นต้องได้รับวัคซีนอื่น (เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนบาดทะยัก) ให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่จําเป็นต้องเว้นระยะเวลา แต่ให้ฉีดในตําแหน่งที่ต่างกัน ส่วนในกรณีที่ต้องสังเกตอาการ และอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีนแต่ละชนิด อาจเว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์
ผู้ที่มีความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจกับวัคซีน COVID-19
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะเหล่านี้หากสามารถควบคุมได้แล้วและมีความคงที่ ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพก่อนทำการฉีดวัคซีน COVID-19 แต่ถ้ายังควบคุมได้ไม่ดีหรือยังควบคุมไม่ได้ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดก่อนฉีดวัคซีน หากไม่แน่ใจหรือมีอาการผิดปกติอื่นใดที่คิดว่าอาจจะสัมพันธ์กับโรคที่เป็นอยู่ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีน
ผู้ป่วยที่ต้องรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจกับวัคซีน COVID-19
สำหรับคนที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับการทำบอลลูนหรือใส่ขดลวด หรือผู้ป่วยที่กำลังจะได้รับการรักษาด้วยการทำผ่าตัด Bypass เส้นเลือดหัวใจที่ยังแสดงอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ ควรจะต้องได้รับการรักษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19
แต่หากเป็นการนัดหมายเพื่อทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจหรือผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจในกรณีที่โรคค่อนข้างสงบหรือไม่ได้แสดงอาการมากนักควรต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อประเมินโดยละเอียดว่าโอกาสที่จะติดเชื้อ หรืออยู่ในชุมชน หรือกลุ่มคนที่มีการระบาดค่อนข้างสูงหรือไม่ หากประเมินแล้วผลดีของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และสถานการณ์ของการติดเชื้อในขณะนั้นด้วย
วัคซีน COVID-19 กับการเกิดลิ่มเลือด
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่หลายคนเป็นกังวล แต่มีอุบัติการณ์เกิดขึ้นค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่สูงอายุมากขึ้น คือ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด โดยอาจพบเพียงแค่ 1 ในล้านโดสเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาต้านเกล็ดเลือด ยิ่งพบอุบัติการณ์ในการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดจากการฉีดวัคซีนน้อยลงไปอีก
ฉีดวัคซีน COVID-19 กับสถานพยาบาลที่มีความพร้อม
ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดควรได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน เพื่อให้สามารถดูแลได้ทันท่วงทีหากมีภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะไม่พึงประสงค์ ซึ่งภาวะไม่พึงประสงค์ในระยะแรกหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 นาที ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ และอาการไม่รุนแรง เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด อาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อยหอบ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณข้อ หรือคลื่นไส้ ซึ่งระหว่างที่สังเกตอาการ หากพบความผิดปกติเหล่านี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินอาการทันที โดยข้อมูลที่มีการศึกษามาแล้วพบว่า อาการเหล่านี้จะพบน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้น และจะพบมากขึ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอายุน้อย