หัวใจสูงวัยสตรองได้แค่ดูแล
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวใจที่นอกจากความเสื่อมตามวัย พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ และการมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน ติดบุหรี่ เป็นต้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคหัวใจตามมา ซึ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไปควรใส่ใจดูแลตนเอง อย่ามัวแต่ห่วงงานจนลืมไปว่าหัวใจมีเพียงแค่ดวงเดียว เพราะโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้สูงวัย
ปัจจัยเสี่ยงหัวใจวาย
- ไขมันสูง
- สูบบุหรี่
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- อ้วนลงพุง
- เครียด ซึมเศร้า
- พันธุกรรม
อาการเตือนโรคหัวใจผู้สูงวัย
- เหนื่อยง่าย
- แน่นหน้าอก
- ใจสั่น
- หน้ามืด
- เป็นลม
อาการที่อาจพบในผู้สูงวัยได้แบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากโรคหัวใจ เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น
ตรวจเช็กความเสื่อมหัวใจ
การตรวจเช็กสุขภาพหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันโรคหัวใจได้อย่างทันท่วงที โดยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหัวใจก่อนเข้ารับการตรวจ ได้แก่
- การตรวจหาปริมาณแคลเซียมและคราบไขมันที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery) โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงด้วยเทคนิค
- Coronary Calcium Scoring วิธีนี้สามารถคำนวณปริมาณแคลเซียมที่เกาะตรงผนังหลอดเลือดหัวใจได้ โดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ ถ้าพบว่ามีแคลเซียมสะสมอยู่มาก ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันสูงและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจสูง
- CTA for Coronary Artery ตรวจหลอดเลือดหัวใจที่ต้องฉีดสารทึบรังสี ทำให้เห็นร่องรอยการตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจทั้งหมดสามเส้นในครั้งเดียว การฉีดสารทึบรังสีทำให้เห็นคราบไขมัน (Atherosclerotic Plaque) ที่เกาะอยู่ใต้ชั้นผนังหลอดเลือดได้ การตรวจพบการตีบตันตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่งผลทำให้การป้องกันได้ผลดีในระยะยาว
- การวิ่งสายพาน(Exercise Stress Test) เป็นการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการคัดกรองการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจเบื้องต้น ถ้าพบว่าผิดปกติจำเป็นจะต้องตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยละเอียดเพิ่มเติม
- การตรวจ MRI หัวใจ มีทั้งการตรวจ MRI ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี การตรวจ MRI หัวใจ โดยไม่มีการฉีดสารทึบรังสี การตรวจ MRI หัวใจร่วมกับการฉีดยาและการฉีดสารทึบรังสี เพื่อตรวจหาความปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งหาความผิดปกติของหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด
เลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายหัวใจ
- เครียด
- กินหวาน มัน เค็มมากเกินไป
- เลี่ยงฟาสต์ฟู้ดส์ จังก์ฟู้ดส์ เช่น โดนัท คุ้กกี้ เบเกอรี่ เป็นต้น
- นอนไม่พอ
- ไม่ออกกำลังกาย
- ไม่กินผักผลไม้
- สูบบุหรี่
เทคนิคการกินสำหรับคนเสี่ยงโรคหัวใจ
สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงโรคหัวใจควรต้องดูแลอาหารการกินในทุกมื้อ โดยอาหารแต่ละมื้อควรมี
- ข้าวซ้อมมือ 1 ทัพพี
- โปรตีนจากปลา 2 – 4 ช้อนโต๊ะ
- ถั่วเปลือกแข็งแทนของว่างระหว่างมื้อ ปริมาณ 1 อุ้งมือต่อวัน
- ผักไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องไม่มีสารเคมีตกค้าง
- ผลไม้ควรทาน 6 – 8 ชิ้นต่อมื้อ เพราะผลไม้มีน้ำตาลค่อนข้างมาก ถ้าจะให้ดีควรทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย ได้แก่ แก้วมังกร สาลี ฝรั่ง ชมพู่ และแอปเปิล
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 6 – 8 แก้วต่อวัน
เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเนื่องในวันพ่อปีนี้ นอกจากหมั่นดูแลสุขภาพหัวใจของคุณพ่อโดยเฉพาะคุณพ่อสูงวัย ก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวที่อาจมีความเสี่ยง โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน