กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากภาวะลองโควิด
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแม้พบได้ไม่บ่อย แต่สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันทั้งในผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงในเด็กเล็ก โดยไม่มีอาการแสดงมาก่อน และอาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ การรู้เท่าทันเพื่อระวังและรับมือได้อย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออะไร
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียไมโคพลาสมา (Mycoplasma) หรืออาจเกิดจากการอักเสบที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อหรือยาบางชนิด บางคนไม่มีอาการ บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย และบางคนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงอาจหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียไมโคพลาสมา พบบ่อยที่สุด
- ไข้หวัดใหญ่
- โควิด-19
- ไข้รูมาติก
- ข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคแพ้ภูมิตนเอง
- สัมผัสรังสีหรือโลหะหนัก
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นอย่างไร
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหอบ อ่อนแรง เหนื่อยล้า
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แรง ผิดจังหวะ
- ไข้ ปวดตามตัว
- ปวดท้อง เบื่ออาหาร
- เวียนศีรษะ เป็นลม
- ขา เท้า ข้อเท้าบวม
ตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG)
- ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Heart)
- ตรวจโดยตัดชิ้นเนื้อหัวใจ
- เจาะเลือดหาความผิดปกติ
รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้อย่างไร
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการ และความรุนแรงเป็นสำคัญ
- อาการไม่รุนแรง การอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจอาจดีขึ้นเองได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางหัวใจ โดยสามารถรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาต้านไวรัส หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากอย่างการเล่นกีฬาหนัก ๆ อย่างน้อย 3 – 6 เดือน ที่สำคัญคือการสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
- อาการรุนแรง แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจอาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย อาทิ การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) หากผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แพทย์อาจให้ยาหรือผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงหัวใจอุดตัน หากรุนแรงมากจนหัวใจเสียหายแพทย์อาจพิจารณาการปลูกถ่ายหัวใจ
- อาการเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเรื้อรังอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หรืออาจรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 2 – 3 เดือนควบคู่กับการปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารโซเดียมต่ำ จำกัดปริมาณน้ำ และพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจล้มเหลว
- หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- หัวใจขาดเลือด
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
โควิด-19 ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจอย่างไร
โควิด-19 มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับโรคหัวใจ หากป่วยด้วยโรคหัวใจและติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้อาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนทั่วไป ผลโดยตรงของการติดเชื้อโควิด-19 ต่อหัวใจนั้น ขณะที่ได้รับเชื้อและร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะที่เรียกว่า เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนว่าเจอมากน้อยเพียงใด แต่ในบางการศึกษารายงานการเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะหัวใจโดยตรงจากการติดเชื้อโควิด-19 พบได้ถึง 7 – 10% และในผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรงพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้มากถึง 40%
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบบ่อยแค่ไหน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบได้ไม่บ่อยนักและส่วนมากพบได้ในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจากรายงานพบว่าภาวะดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความรุนแรงและพบได้หลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3 วันจนถึง 2 สัปดาห์ เกือบทั้งหมดตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยจากการเจาะเลือดหรือตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเกือบทั้งหมดหายได้เองและหายสนิท ซึ่งตัวเลขจากการศึกษาพบเพียงประมาณ 1 ใน 100,000 ถึง 200,000 คน
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกับภาวะลองโควิด
ภาวะอาการทางโรคหัวใจที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือภาวะลองโควิด (Long Covid) จากรายงานพบว่า อาการที่อาจพบร่วมด้วยของการเป็น Long Covid อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพบอุบัติการณ์ของการเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยเพียงใด แต่พบน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการมีภาวะแทรกซ้อนขณะที่กำลังมีการติดเชื้อโควิด-19
อาการของคนที่มีภาวะลองโควิดที่แสดงออกทางด้านของหัวใจอาจมีอาการหลงเหลืออยู่ของภาวะใจสั่น เหนื่อย เพลีย หรือบางครั้งอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่อาจตรวจเลือด ทำภาพสแกน หรือ MRI เพื่อดูความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ ซึ่งยังไม่มีมาตรฐานการรักษาที่ชัดเจนในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์โรคหัวใจ ดังนั้นหากสุขภาพหัวใจผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กทันที
โรงพยาบาลที่รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจราคาเริ่มต้นที่ 9,900 บาท