ตรวจเนื้อเยื่อหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI 3 Tesla
ปัจจุบันหนึ่งในโรคภัยสุขภาพที่น่ากลัวและพบมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ด้วยความก้าวหน้าและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจและลดผลกระทบกับอวัยวะข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจหาโรคความผิดปกติของเนื้อเยื่อหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) ที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็กในระดับ 3 เทสลา (3.0 Tesla) ประกอบกับซอฟต์แวร์ที่มีความทันสมัย ทำให้ภาพ MRI ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคมีความละเอียดสูง สามารถใช้วินิจฉัยอาการผิดปกติของเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดได้อย่างมีคุณภาพ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วย MRI 3 Tesla
การตรวจหาความผิดปกติและวินิจฉัยโรคด้วย MRI ที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็ก 3 เทสลา (3.0 Tesla) เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยอาการผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีคุณภาพและความละเอียดสูง โดยเฉพาะการตรวจหาโรคของความผิดปกติของเนื้อเยื่อหัวใจ อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคอะไมลอยด์โดซิสของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Amyloidosis) ความผิดปกติของหลอดเลือด ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ โรคของลิ้นหัวใจ โรคของหลอดเลือดโคโรนารี และหลอดเลือดแดงใหญ่ โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) ทั้งก่อนและหลังการรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการกระตุ้นด้วยยา (MRI Stress Test with Pharmacologic Induction) และการตรวจดูก้อนเลือดในคนไข้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายมีแรงบีบตัวน้อย ทำให้เลือดในห้องหัวใจแข็งตัวง่าย เป็นต้น
จุดเด่นของการตรวจ MRI 3 Tesla
การตรวจ MRI 3.0 Tesla นับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับรังสีเอกซเรย์ จึงมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียงต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่แพ้สารทึบรังสี หรือผู้ป่วยในภาวะไตวาย รวมถึงผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถกลั้นหายใจนาน ๆ ได้ และผู้ป่วยที่ปราศจากข้อห้ามในการตรวจ MRI นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมีลักษณะเป็นอุโมงค์ทรงกระบอกในแนวนอนกว้างขวางขึ้นจากเดิม สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีขนาดตัวใหญ่ได้ ช่วยลดอาการกลัวการเข้าไปอยู่ในบริเวณแคบและปิดทึบของผู้ป่วยได้ แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกลัวที่แคบจริง ๆ แพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป และคนไข้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียมบางชนิด เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท คนไข้ที่ใส่ขดลวดดามหลอดเลือด (Stent) ในเวลาน้อยกว่า 8 สัปดาห์ จะไม่สามารถใช้การตรวจ MRI ได้แพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นต่อไป
ข้อจำกัดในการตรวจ MRI 3 Tesla
แม้ MRI 3.0 Tesla เป็นเครื่องมือที่ปลอดรังสีเอกซเรย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจ MRI 3.0 Tesla ได้แก่ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร (ในกรณีที่คนไข้ต้องฉีดสารเปรียบต่าง Contrast Agent) ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นโลหะฝังอยู่ร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจและผู้ป่วยที่มีค่าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 30% ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะโรคไตเพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนตรวจ
เตรียมตัวก่อนตรวจ MRI 3 Tesla
การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจ ได้แก่
- ผู้ป่วยงดน้ำและอาหาร 4 ชั่วโมงก่อนการตรวจ MRI Stress Test (ทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการใช้ยากระตุ้น) การตรวจ MRI แบบอื่นนอกเหนือจาก Stress Test ไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ
- ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจต้องถอดฟันปลอม เครื่องประดับโลหะต่าง ๆ เพราะส่วนประกอบที่มีโลหะจะส่งผลรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้
- ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดใส่โลหะในร่างกายต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนเข้าห้องตรวจ
- ทำธุระเข้าห้องน้ำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากการตรวจอาจใช้ระยะเวลานาน
- ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งขณะทำการตรวจ เพื่อจะได้ภาพที่ชัดเจน
- สามารถกดสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่ออก เป็นต้น
MRI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตรงจุดและนำไปสู่การรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI 3.0 Tesla)