ปวดหัวไมเกรนบ่อย อาจมีผนังหัวใจรั่ว
ปวดหัวไมเกรนหรือเรียกสั้น ๆ ว่าไมเกรนเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของคนวัยทำงาน คุณรู้ไหมว่าหากเป็นไมเกรนที่มีออร่าร่วมด้วย เช่น อาการเห็นแสงวาบ ตามัว บางรายมีอาการของสมองขาดเลือด เช่น พูดไม่ชัด แขนขาชา อาจไม่ใช่แค่ไมเกรน แต่บางคนมีสาเหตุหรือเกิดร่วมกับโรคผนังหัวใจรั่วชนิด Patent Foramen Ovale หรือ PFO ที่ต้องรีบทำการรักษาโดยเร็วก่อนเป็นรุนแรง เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
ปวดหัวไมเกรนคืออะไร
ปวดหัวไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังสมองถูกกระตุ้นจะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้า ๆ จนเกิดอาการเตือนขึ้นมา ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิดที่มีผลทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัวและทำให้มีอาการปวดหัวไมเกรน
อาการปวดหัวไมเกรนเป็นอย่างไร
อาการปวดหัวไมเกรนมีลักษณะปวดแบบตุบ ๆ เป็นจังหวะ มักเกิดข้างเดียวของศีรษะ แต่ก็อาจเป็นทั้งสองข้างได้ โดยอาการปวดในช่วงแรกมักรุนแรงเพียงเล็กน้อย และค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็นหลายชนิดดังนี้
- ปวดหัวไมเกรนที่ไม่มีออร่า (Migraine without Aura หรือ Common Migraine) ปวดหัวและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมาก ฯลฯ
- ปวดหัวไมเกรนมีออร่า (Migraine with Aura หรือ Classic Migraine) นอกจากปวดหัวแล้วยังมีอาการมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงระยิบระยับ ภาพเบี้ยว ภาพเบลอ อ่อนแรงหรือชาที่มือ แขน รอบปาก ฯลฯ
- ปวดหัวไมเกรนแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine) เป็นการปวดหัวไมเกรนที่เป็นมานานอย่างน้อย 3 เดือนและเป็นอย่างน้อยเดือนละ 15 วัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไมเกรนทุกรายควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง
ไมเกรนเกี่ยวข้องกับผนังหัวใจรั่วชนิด PFO อย่างไร
ทารกในครรภ์ทุกคนมีรูเปิดในผนังหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนที่เรียกว่า Foramen Ovale เพื่อรับเลือดและออกซิเจนจากหัวใจทารกจากห้องบนขวาไปยังหัวใจห้องบนซ้ายและส่งไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยไม่ต้องผ่านปอด ซึ่งรูเปิดนี้ส่วนใหญ่จะปิดหลังคลอดประมาณ 3 เดือน หากรูยังเปิดอยู่อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อนหลายอย่าง ทั้งโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนที่มีรูรั่วชนิด Patent Foramen Ovale หรือ PFO เป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ผนังหัวใจห้องบนซ้ายและผนังหัวใจห้องบนขวามีรูรั่วขนาดเล็กและปิดไม่สนิท ที่สำคัญคือไม่แสดงอาการให้รู้ จนกระทั่งลิ่มเลือดบางส่วนไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องบนขวาไปที่หัวใจห้องบนซ้ายแล้วเข้าสู่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการที่มีความสัมพันธ์กับปวดศีรษะไมเกรนที่มีออร่า เนื่องจากลิ่มเลือดอุดตันจนหลอดเลือดเกิดการขยายตัว กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
โดยในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนชนิดมีออร่ามีโอกาสเป็นโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO เพิ่มขึ้น และในผู้ป่วยโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO พบว่ามีอาการปวดศีรษะไมเกรนออร่ามากกว่าคนปกติเพิ่มขึ้นเช่นกัน มีข้อมูลระบุว่า การมีผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (PFO) เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับโรคไมเกรนหลายรูปแบบ อาทิ โรคไมเกรนที่มีออร่า (Migraine with Aura), โรคไมเกรนที่มีออร่าแต่ไม่มีอาการปวดศีรษะ (Migraine Aura without Headache) และโรคไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine) โดยพบผู้ป่วยผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO ในผู้ป่วยไมเกรนที่มีออร่า 46.3% – 88% ส่วนในผู้ป่วยไมเกรนที่ไม่มีออร่าพบผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (PFO) 16.2% – 34.9%
อาการปวดหัวไมเกรนแบบไหนที่พบร่วมกับโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO
• ปวดหัวไมเกรนบ่อยครั้ง
• รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
• มีอาการทางสมองร่วมด้วย อาทิ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด มุมปากตก ฯลฯ
ตรวจวินิจฉัยโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO อย่างไร
การตรวจวินิจฉัยโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจหาโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO ซึ่งวิธีการตรวจ ได้แก่
- ประวัติการเจ็บป่วยโดยเฉพาะรายละเอียดการปวดหัวไมเกรน
- ตรวจร่างกาย การฟังเสียงหัวใจปกติ
- ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูงร่วมกับการฉีดน้ำเกลือที่ใช้เทคนิคทำให้เกิดฟองเล็ก ๆ และฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Transthoracic or Transesophageal Echocardiogram with Saline Bubble Test)
- ตรวจการไหลเวียนเลือดภายในหลอดเลือดแดงในสมองร่วมกับการฉีดน้ำเกลือที่ใช้เทคนิคทำให้เกิดฟองเล็ก ๆและฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Transcranial Doppler Ultrasound with Saline Bubble Test หรือ TCD)
รักษาโรคผนังหัวใจรั่ว (PFO) ทำให้ปวดหัวไมเกรนดีขึ้น
การรักษาโรคผนังหัวใจรั่วชนิด PFO ด้วยการปิดรูรั่วผนังหัวใจห้องบนผ่านสายสวนช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรน โดยเฉพาะปวดหัวไมเกรนที่มีออร่าได้ ปัจจุบันสามารถทำการรักษาโดยใช้เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter PFO Closure) คือ ใส่อุปกรณ์เพื่อเข้าไปปิดรูรั่วผ่านทางหลอดเลือดทางสายสวนหัวใจบริเวณขาหนีบ วิธีนี้แผลจะมีขนาดเล็ก ลดความเจ็บปวด และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้ดี ที่สำคัญหลังหัตถการสายสวนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO ด้วยเทคนิคการรักษาที่ทันสมัยใช้สายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดและความชำนาญของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่มากด้วยประสบการณ์การรักษาและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO
นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี อายุรแพทย์โรคหัวใจ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจรักษาผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว
แพ็กเกจรักษาผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยสายสวนราคา 440,000 – 462,000 บาท
Reference
- Mojadidi MK, Kumar P, Mahmoud AN, et al. Pooled Analysis of PFO Occluder Device Trials in Patients with PFO and Migraine. J Am Coll Cardiol 2021; 77:667-76.
- Serrano D, Lipton RB, Scher AI, et al. Fluctuations in episodic and chronic migraine status over the course of 1 year: implications for diagnosis, treatment, and clinical trial design. J Headache Pain 2017; 18:101.
- Tobis JM, Charles A, Silberstein SD, et al. Percutaneous Closure of Patent Foramen Ovale in Patients with Migraine: The PREMIUM Trial. J Am Coll Cardiol 2017; 70:2766-74.
- Mattle HP, Evers S, Hildick-Smith D, et al. Percutaneous closure of patent foramen ovale in migraine with aura, a randomized controlled trial. Eur Heart J 2016; 37:2029-36.