รักษา 10 โรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียว (Uniportal VATS)

รักษา 10 โรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียว (Uniportal VATS)
แชร์

การผ่าตัดปอดในอดีตจะใช้การผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งผู้ป่วยมักกังวลเรื่องความเจ็บปวดเมื่อเข้ารับการผ่าตัดและขนาดของแผลที่อาจมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดปอดโดยการส่องกล้องหรือ Video Assisted Thoracic Surgery (VATS) จึงเป็นทางเลือกการผ่าตัดที่ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ยังลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน และได้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพ



โรคหัวใจ, UNIPORTAL VATS

การผ่าตัดส่องกล้องแบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร

ในอดีตการผ่าตัดส่องกล้องแบบที่ทำกันมานานจะมีแผลผ่าตัดประมาณ 3 – 4 แผล โดยจะมีแผลแรกสำหรับให้กล้องส่องเข้าไป แผลที่สองสำหรับอุปกรณ์ดึงรั้ง และแผลที่สามสำหรับอุปกรณ์ผ่าตัดและอุปกรณ์ตัดเย็บ โดยแผลมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตร มีหลักการลงแผลผ่าตัดคล้ายกับการเล่นเบสบอล โดยให้ตำแหน่งกล้องบริเวณชายโครงช่องกระดูกซี่โครงที่ 7 – 8 ส่วนตำแหน่งแผลผ่าตัดหลักและแผลสำหรับอุปกรณ์ช่วยดึงจะอยู่ช่องกระดูกซี่โครงที่ 4 – 6 บริเวณด้านหน้าและด้านหลัง จึงเห็นได้ว่าถึงแม้จะใช้แผลเล็กและไม่มีการถ่างขยายซี่โครง แต่แผลผ่าตัดต้องผ่าช่องซี่โครงหลายช่อง ปกติคนเราจะมีเส้นประสาทวิ่งชิดขอบล่างของกระดูกซี่โครงแต่ละซี่ การใส่อุปกรณ์เข้าไปจึงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีอาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดจากการระคายเคืองของเส้นประสาทหลายตำแหน่ง 

โรคหัวใจ, UNIPORTAL VATS

การผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว Uniportal VATS คืออะไร

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว (Uniportal VATS) คือการใส่อุปกรณ์ผ่านลงไปในแผลขอบหลังของราวนมขนาดประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ใช้เทคนิคในการผ่าตัดสูงและอุปกรณ์ยาวพิเศษ แพทย์ผ่าตัดจึงจำเป็นต้องมีความชำนาญเฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้องชนิด 2 แผลและ 3 แผลมาก่อน โดยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดชนิดแผลเดียวจะมีอาการเจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัด 3 แผลและมีความพึงพอใจหลังการผ่าตัดมากกว่า โดยที่ผลการผ่าตัดในแง่ของโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งปอดไม่ต่างกัน1-4
Uniportal VATS

การผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอย่างไร

ด้วยการพัฒนาการผ่าตัดส่องกล้องอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากจำนวนและขนาดของแผลที่ลดลง ยังมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดปอดแบบส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy – ENB) โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีระบบ GPS ค้นหาตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณปอดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้อย่างถูกต้องชัดเจน ทำให้แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้ตรงตามตำแหน่งในระยะเวลาที่ไม่นาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดรักษาช่องอกให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

การผ่าตัดส่องกล้องสามารถรักษาโรคใดบ้าง

การผ่าตัดส่องกล้องสามารถรักษาโรคปอดและโรคในช่องอกได้ดังนี้

  1. โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) เกิดจากการที่เซลล์ภายในปอดและช่องอกเติบโตผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ กลายพันธุ์เป็นเนื้อร้ายที่กระทบการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย มักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ถ้าไม่รีบรักษาจะลุกลามและรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
  2. โรคลมรั่วในช่องอกที่เป็นซ้ำ (Recurrent Pneumothorax) คือ ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่กลับมาเป็นซ้ำ แม้จะพบได้ไม่มาก แต่มีโอกาสเป็นได้ และอันตรายถึงชีวิต
  3. โรคเนื้องอกต่อมไทมัส (Thymoma) เป็นเนื้องอกที่พบในบริเวณอวัยวะของช่องอกส่วนหน้า มักไม่มีอาการเตือน ส่วนใหญ่ตรวจพบจากการเอกซเรย์ปอดหรือช่องอก หากรุนแรงจนหายใจไม่ไหวต้องผ่าตัดต่อมไทมัสโดยเร็ว
  4. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis – MG) เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนเข้าไปยับยั้งการสื่อผ่านกระแสประสาทบริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรง มักพบบริเวณดวงตา ปาก ใบหน้า แขน ขา ถ้าไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงถึงขั้นหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
  5. โรคถุงน้ำจากหลอดอาหาร (Esophageal Cyst) เป็นความผิดปกติภายในหลอดอาหาร โดยถุงน้ำเกิดจากเนื้อเยื่อผนังหลอดอาหาร ส่วนใหญ่มักพบในทารกที่มีพัฒนาการผิดปกติขณะอยู่ในครรภ์มารดา แต่พบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
  6. โรคถุงน้ำจากหลอดลม (Bronchogenic Cyst) เกิดจากการมีถุงน้ำเกิดขึ้นจากหลอดลม มักตรวจพบจากการเอกซเรย์หรือทำ CT Scan เพราะไม่แสดงอาการ แต่ถ้าทิ้งไว้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้
  7. โรคติดเชื้อในช่องอก (Empyema Thoracis) หรือหนองในเยื่อหุ้มปอด เกิดจากความผิดปกติระหว่างเยื่อหุ้มรอบปอด มักติดเชื้อหลังเป็นปอดอักเสบ พบในผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือคนทั่วไปก็เป็นได้
  8. โรคน้ำขังในช่องหัวใจและช่องอกจากมะเร็ง (Malignant Pericardial / Pleural Effusion) เกิดจากภาวะที่มีน้ำขังในช่องเยื่อหุ้มหัวใจและช่องอกเมื่อเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังเยื่อหุ้มหัวใจหรือเยื่อหุ้มปอด
  9. โรคมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เกิดขึ้นบริเวณหลอดอาหาร มักมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก คลำได้ก้อนที่คอหรือไหปลาร้า หากรักษาโดยเร็วจะช่วยลดความรุนแรงได้ดี แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเซลล์มะเร็งแพร่กระจายอาจทำให้ร้ายแรงถึงชีวิตได้
  10. โรคเหงื่อออกผิดปกติที่ฝ่ามือ (Palmar Hyperhidrosis) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ในบริเวณช่องอก ทำให้มีเหงื่อออกมากที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า การตัดเส้นประสาทในช่องอกสามารถบรรเทาอาการนี้ได้

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้องปอดและช่องอก

เห็นได้ว่าการผ่าตัดส่องกล้องปอดและช่องอกสามารถทดแทนการผ่าตัดเปิดได้เกือบทุกโรคในช่องอก แต่มีข้อจำกัดในบางโรค เช่น ภาวะมะเร็งปอดระยะลุกลาม ภาวะมะเร็งเยื่อบุช่องอก (Malignant Mesothelioma) ภาวะติดเชื้อในช่องอกเรื้อรังในบางราย (Chronic Empyema Thoracis) เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับเทคนิคและประสบการณ์ของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะเป็นผู้ตัดสินใจวิธีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว ส่องกล้องหลายแผล หรือการผ่าตัดเปิด โดยทางทีมแพทย์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีความพร้อมที่จะผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียวในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวและพร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยทุกคน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดปอดและช่องอก

  • หยุดรับประทานยาบางชนิดก่อนผ่าตัด เช่น แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด
  • ตรวจเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น เอกซเรย์, CT Scan, PET/CT Scan ฯลฯ
  • งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัด 6 – 8 ชั่วโมง
  • ฝึกหายใจตามที่แพทย์แนะนำ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
  • เลิกสูบบุหรี่

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดปอดและช่องอก

  • พบแพทย์ตามนัดหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลังผ่าตัดอาจรู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง แต่จะดีขึ้นได้เอง
  • พยายามเคลื่อนไหวให้เร็วที่สุดตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด ช่วยให้ฟื้นตัวได้ไว
  • หากปวดแผลสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
  • ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ
  • เลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่ทำให้เกร็งกล้ามเนื้อ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • ห้ามออกกำลังกายหนัก  2 – 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • ห้ามขับรถ 7 – 10 วันหลังผ่าตัด
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ 24 – 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องปอดและช่องอก

  • เจ็บน้อย 
  • ฟื้นตัวเร็ว
  • ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
  • โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • ผลลัพธ์การรักษาเป็นที่น่าพอใจ
  • คุณภาพชีวิตดีขึ้น

โรงพยาบาลที่รักษาโรคปอดและช่องอก

ศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาโรคปอดและโรคในช่องอก ทุกมิติ เรามีความชำนาญในการผ่าตัดรักษาด้วยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและทันสมัย ความพร้อมของทีมพยาบาลและทีมสหสาขาต่าง ๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคปอดและช่องอก

นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยแพทย์ทรวงอก ชำนาญการผ่าตัดโรคปอดและโรคในช่องอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ 

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

แพ็กเกจผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด

แพ็กเกจผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด ราคาเริ่มต้นที่ 380,000 บาท

คลิกที่นี่ 


อ้างอิง :
1. Shen Y et al. Single versus multiple-port thoracoscopic lobectomy for lung cancer: a propensity-matched study Eur J Cardiothorac Surg. 2016 Jan;49 Suppl 1:i48-53

2. Xu GW et al.A prospective comparative study examing the impact of uniportal and three portal video-assisted thoracic surgery on short-term quality of life in lung cancer. Zhonghua Wai Ke Za Zhi. 2018 Jun 1;56(6):452-457
3. Mu JW et al. A Matched Comparison Study of Uniportal Versus Triportal Thoracoscopic Lobectomy and Sublobectomy for Early-stage Nonsmall Cell Lung Cancer. Chin Med J (Engl). 2015 Oct 20;128(20):2731-5.
4. Young R et al.  Is uniport thoracoscopic surgery less painful than multiple port approaches? Interact Cardiovasc Thorac Surg. 2015 Mar;20(3):409-14

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com