เจ็บหน้าอกข้างซ้าย ใช่หรือไม่ใช่โรคหัวใจ

เจ็บหน้าอกข้างซ้าย ใช่หรือไม่ใช่โรคหัวใจ
แชร์

เวลาที่มีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย หลายคนมักคิดว่าตนเองเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ซึ่งความจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะฉะนั้นการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจโดยเร็วเพื่อตรวจเช็กคือเรื่องที่ต้องใส่ใจ


เจ็บหน้าอกข้างซ้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นต้น หากมีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายต้องพิจารณาว่าคนนั้นเป็นใครและมีความเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากแค่ไหน เพราะอาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายได้เอง แต่หากเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบต้องรีบรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


เจ็บหน้าอกข้างซ้ายแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ

เวลาที่มีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายต้องแยกลักษณะการเจ็บว่าเป็นแบบใด เช่น

  • เจ็บหน้าอกข้างซ้าย รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรทับ ร้าวไปที่แขนซ้าย กราม ปวดลิ้นปี่ ใจสั่น หายใจทางปาก หายใจติดขัด หายใจไม่ออก อาจเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบ
  • เจ็บหน้าอกข้างซ้าย นอนราบไม่ได้ เกิดน้ำท่วมปอด อาจเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
  • เจ็บหน้าอกข้างซ้าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ อาจเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
  • เวลาหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเจ็บหน้าอกข้างซ้าย อาจเสี่ยงโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือไข้หวัดแล้วเกิดการอักเสบเฉพาะที่บริเวณปอดด้านซ้าย อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้

เจ็บหน้าอกข้างซ้ายบอกโรคหัวใจชนิดใด

ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ อย่างกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือตีบอย่างรุนแรงทำให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกและร้าวไปบริเวณต่างๆ
  2. โรคที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกต้องแยกว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ใช่หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งบางครั้งอาการอาจคล้ายกันได้

ตรวจวินิจฉัยอย่างไรเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย

แพทย์เฉพาะทางหัวใจจะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายโดย

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อเช็กอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจดูลักษณะกราฟว่าเส้นเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เป็นวิธีที่รวดเร็วและได้ผลตรวจชัดเจน
  • เจาะเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (High Sensitivity Troponin-I) เป็นการตรวจหา Protein ในเลือดหากเซลล์มีการอักเสบมากค่าจะสูงตามยิ่งค่าสูงเมื่อแพทย์พิจารณาร่วมกับการตรวจอื่นๆจะทำให้ระบุความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ในกรณีที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และเจาะเลือดแล้วยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์จะตรวจ Echocardiogram เพื่อหาสาเหตุที่ขัดเจน

เจ็บหน้าอกข้างซ้าย ใช่หรือไม่ใช่โรคหัวใจ

เจ็บหน้าอกข้างซ้ายรักษาได้อย่างไร

การรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจอย่างหลอดเลือดหัวใจตีบรักษาได้โดยการเปิดทางเดินหลอดเลือดหัวใจ
    • ใช้ยาเพื่อเปิดหลอดเลือดให้ยาทางหลอดเลือดดำยาจะเข้าไปสลายลิ่มเลือดที่อยู่ในเส้นเลือดหัวใจ
    • การขยายด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด เป็นวิธีการรักษาที่ดีกว่าการให้ยา หากเส้นเลือดหัวใจตีบจะมีเวลาจำกัด 6 ชั่วโมงในการรีบเปิดเส้นเลือด เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ตาย ดังนั้นถ้ามาถึงโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะมีทีมแพทย์เฉพาะทางหัวใจที่พร้อมดูแลรักษา 24 ชั่วโมง
  2. โรคที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักใช้ยาเฉพาะเจาะจงในการรักษา เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงและสาเหตุของโรคแตกต่างกัน

เจ็บหน้าอกข้างซ้ายแบบไหนควรพบแพทย์

ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายนาน 5 – 10 นาทีขึ้นไปร่วมกับรู้สึกแน่นเหมือนโดนทับ ร้าวไปที่แขนซ้าย กราม ลิ้นปี่ หายใจติดขัด ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะหากหลอดเลือดตีบจนหัวใจล้มเหลวต้องรีบเปิดเส้นเลือดโดยเร็วที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นวันกับผู้ที่เจ็บหน้าอกแล้วมาทันทีต่างกันมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายแล้วไม่มีทางฟื้น ยิ่งกล้ามเนื้อหัวใจตายมากเท่าไร โอกาสที่การบีบตัวน้อยมีสูงเท่านั้น เมื่อเหลือกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานได้ดีน้อย ย่อมมีโอกาสเป็นหัวใจล้มเหลวตามมา หากมีอาการต้องมาโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมงแรกสำคัญที่สุด


ดูแลหัวใจอย่างไรให้แข็งแรง

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และตรวจสุขภาพประจำปี แนะนำให้เลี่ยงฝุ่น PM.25 เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อหัวใจและอันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ และสำหรับผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ แนะนำให้ตรวจ Polygenic Risk Score เป็นการตรวจทางพันธุกรรมเฉพาะรายบุคคลเพื่อวิเคราะห์ยีนที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะการป้องกันโรคในอนาคตย่อมดีกว่าการรักษา


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาหัวใจ

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาหัวใจ

คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาทุกความผิดปกติของหัวใจ โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงยืนยาว

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com