ผ่าตัดแผลเล็ก ลดความเสี่ยง ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ออกมาจากขั้วหัวใจทอดยาวจากช่องอกสู่ช่องท้องและให้แขนงเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายหลายแห่ง โรคหรือภาวะบางอย่างอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตามีความอ่อนแอ เกิดการโป่งพองขยายขนาดจนใหญ่กว่าปกติขึ้น (Aneurysm) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตก ทำให้เสียเลือดจำนวนมากกระทันหันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกระดับของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง แต่สามารถพบบ่อยที่สุดในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาในช่องท้องส่วนที่อยู่ใต้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต (Infrarenal Abdominal Aortic Aneurysm)
หลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกายในสภาวะปกติ
สาเหตุของโรค
โดยปกติแล้วผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตามีความสามารถในการยืดหยุ่นสูง สามารถขยาย ยืด และหดตามระดับความดันโลหิต แต่ในผู้ป่วยที่มีปัญหาบางอย่าง เช่น มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานและมีการแข็งตัวของผนังหลอดเลือด (Atherosclerosis) จะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ จนมีการโป่งพองของผนังหลอดเลือดได้ ภาวะดังกล่าวพบบ่อยในผู้ป่วยชายสูงอายุ โดยจะพบประมาณ 2 – 5% ในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี และอาจพบโรคนี้ได้มากถึง 5 – 10% ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จากการตรวจกรองด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Ultrasound) นอกจากนั้นอาจพบได้มากขึ้นในกลุ่มที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (Coronary Artery Disease) หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่แขนและขาอุดตัน (Peripheral Vessels Disease) ร่วมด้วย นอกจากนี้ประวัติการมีโรคหลอดเลือดโป่งพองในครอบครัวและการสูบบุหรี่นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เป็นโรคได้เช่นกัน กล่าวคือ โรคนี้จะพบในผู้ป่วยชายสูงอายุ โดยเฉพาะระหว่าง 65 – 75 ปีที่มีประวัติสูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง และมีประวัติโรคหลอดเลือดโป่งพองในครอบครัว
อาการบอกโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บ่อยครั้งที่ตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการทำเอกซเรย์ แต่ในผู้ป่วยบางส่วนก็อาจมีอาการได้เช่นกัน เช่น อาการปวดบริเวณหลอดเลือดที่มีการโป่งพอง เจ็บหน้าอก หรือปวดหลัง โดยอาการปวดอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นตลอดเวลาก็ได้ หรือในบางกรณีที่มีหลอดเลือดปริแตก ผู้ป่วยก็จะมาด้วยอาการปวดร่วมกับอาการเสียเลือดจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เสียชีวิตได้ในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง นอกจากนี้การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาอาจทำให้มีก้อนเลือดมาจับตัวที่ผนังของหลอดเลือด เนื่องจากมีการอักเสบหรือมีการไหลวนของเลือดในบริเวณที่มีการโป่งพอง ถ้าก้อนเลือดที่ผนังหลอดเลือดมีการหลุดไปก็อาจไปอุดกั้นแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาได้ หรือการโป่งพองก็อาจจะทำให้มีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง
วินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพองส่วนใหญ่มักไม่มีอาการจึงมักจะเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือจากการตรวจหาโรคอื่น ๆ ปัจจุบันสมาคมแพทย์โรคหลอดเลือดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาช่องท้องโป่งพองด้วยการทำอัลตราซาวนด์ในช่องท้องในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ดังนี้
- อายุระหว่าง 65 – 75 ปีที่มีประวัติสูบบุหรี่ *
- อายุมากกว่า 60 ปี และมีญาติสนิท เช่น บิดาหรือพี่น้องป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพอง ฯลฯ **
นอกจากนี้แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้ที่มีญาติสนิทป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาในช่องอกโป่งพอง ซึ่งการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 256 Slice CT Scan จะช่วยให้ผู้ป่วยสัมผัสรังสีน้อย เนื่องจากใช้เวลาประมาณ 0.27 วินาที และได้รับผลการตรวจที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น
การรักษาโรค
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพองขึ้นกับความเสี่ยงในการแตกของหลอดเลือด ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการแตกสูงกว่า ดังนั้นจึงแนะนำให้ผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดเอออร์ตาใหญ่หรือมีอัตราการโป่งขยายเร็ว
ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ว่าหลอดเลือดมีความเสี่ยงในการแตกสูง เช่น ปวดท้อง หรือเจ็บหน้าอก หรือมีอาการจากการที่หลอดเลือดเอออร์ตากดเบียดอวัยวะข้างเคียง ก็นับเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเช่นเดียวกัน ถ้าหลอดเลือดเอออร์ตายังมีขนาดไม่ใหญ่ถึงขั้นที่จะต้องผ่าตัดแนะนำให้ตรวจติดตามต่อร่วมกับให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อลดแรงดันเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด
นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการมีโรคหลอดเลือดหัวใจแนะนำให้ออกกำลังกาย หยุดสูบบุหรี่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และในกรณีที่ตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูงก็อาจต้องให้ยาลดไขมันด้วย
ผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพอง
ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพองมี 2 รูปแบบ คือ- การผ่าตัดเปิด
- การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านสายสวน (Endovascular Aneurysmal Repair) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพอง เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าและอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลต่ำกว่า โดยที่ให้ผลในการรักษาระยะยาวเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิด
“สถิติการรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในสภาวะฉุกเฉิน (แตก ปริ แตกเซาะ) มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับการรักษาก่อนที่จะมีอาการ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงถึง 95%”
การรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โดยการใส่ขดลวดค้ำยันจากภายใน
การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจยังคงได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพองในรูปแบบการผ่าตัดเปิดและการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมนั้น ช่วยให้ผู้ป่วยหมดกังวลกับแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม
อ้างอิง:
** Hirsch AT, et al. (2006). ACC/AHA 2005 practice guidelines for the management of patients with peripheral arterial disease (lower extremity, renal, mesenteric, and abdominal aortic): A collaborative report from the American Association for Vascular Surgery/Society for Vascular Surgery, Society for Cardiovascular Angiography and Interventions, Society for Vascular Medicine and Biology, Society of Interventional Radiology, and the ACC/AHA Task Force on Practice Guidelines (Writing Committee to Develop Guidelines for the Management of Patients With Peripheral Arterial Disease): Endorsed by the American Association of Cardiovascular and Pulmonary Rehabilitation; National Heart, Lung, and Blood Institute; Society for Vascular Nursing; TransAtlantic Inter-Society Consensus; and Vascular Disease Foundation. Circulation, 113(11): e463–e654.