ภาวะหัวใจล้มเหลว ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะนอกจากเป็นโรคเรื้อรังจากความผิดปกติของหัวใจแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันได้จากสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องคือสิ่งสำคัญ
ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือ กลุ่มอาการหนึ่งที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามที่ต้องการ
ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว
ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาที่มีอาการ ได้แก่
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอาการจะค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic Heart Failure) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อแพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาอาการผิดปกติก็ยังคงมีให้เห็นอยู่
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลัก ๆ ที่พบมากคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจล้วนมีส่วนทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวได้ทั้งสิ้น
อาการบอกโรค
ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ได้เกิดอาการแบบเฉียบพลันเสมอไปและบางทีอาการก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรุนแรง ทำให้การสังเกตอาการมีความสำคัญมาก ที่เด่นชัดคือ แน่นหน้าอกเหมือนถูกกดหรือบีบประมาณ 2 – 3 นาที บางคนเป็นต่อเนื่อง บางคนเป็น ๆ หาย ๆ แต่ถ้าพบว่ามีอาการลักษณะนี้ควรไปพบแพทย์ทันที ก่อนที่อาการจะแย่ลงและลามไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นั่นคือ เริ่มจากเจ็บหลัง แขน คอ ไปจนถึงท้อง ระบบหายใจสั้นลง หน้ามืด คลื่นไส้ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
แม้ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ แต่การพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงย่อมช่วยให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- เลิกการดื่มสุรา
- งดสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ทำใจให้สบายไม่เครียด
ผู้ที่เสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว
หลาย ๆ คนมองว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดในผู้สูงอายุและเป็นเพศชายมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์สามารถมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ หรือแม้กระทั่งคนที่ดูฟิต ๆ อย่างนักกีฬาก็สามารถพบเจอภาวะนี้ได้เช่นกัน แต่กลุ่มที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยตรงก็คือ
- ผู้ที่คนในครอบครัวเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
ลองตรวจสอบตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ อย่าช้าเกินไปจนสายเกินแก้”