ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
แชร์

หลายคนเข้าใจผิดว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ Heart Failure เป็นโรค แต่แท้จริงแล้วคือภาวะที่แพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากหัวใจทำงานผิดปกติ หากเคยผ่านภาวะหัวใจล้มเหลวมาแล้ว ในระยะยาวหัวใจจะไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ต้องเข้าออกรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นภาระต่อครอบครัวและคนใกล้ชิด


หัวใจล้มเหลวคืออะไร

หัวใจล้มเหลวไม่ใช่ภาวะที่หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอาจอันตรายถึงชีวิต ส่วนผู้ที่เป็นเรื้อรัง เช่น มีน้ำขังในปอดเป็นครั้งคราว ในระยะยาวอาการหรือภาวะหัวใจล้มเหลวจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเสียชีวิตได้


หัวใจล้มเหลวเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังเพียงอย่างเดียว อันดับหนึ่งคือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันและการเกิดภาวะ Heart Attack ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งของหัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังเกิดจากบางโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจผิดปกติเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยเคยมีภาวะ Heart Attack บ่อยครั้งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีอาการลิ้นหัวใจรั่วเป็นเวลานาน หรือโรคบางโรคทำให้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็มีโอกาสเช่นกัน


สังเกตภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างไร

เมื่อไรที่หายใจแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายเกินปกติ ตอนกลางคืนนอนราบแล้วหายใจไม่ออกจนต้องลุกนั่ง ขาบวม สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้อาการที่มาพบแพทย์แล้วสงสัยว่าอาจเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีน้ำขังในร่างกาย เช่น ในปอด นอกจากเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อ่อนแรงหรืออ่อนกำลัง บวมตามร่างกาย รวมถึงมีความคิดไม่โปร่งใสและเบื่ออาหาร



 แนวทางการรักษาหัวใจล้มเหลว

การรักษาเบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยถึงมือแพทย์หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออกแพทย์อาจให้ใส่เครื่องช่วยหายใจในกรณีมีน้ำในปอดต้องให้ยาขับปัสสาวะเมื่อผู้ป่วยพ้นวิกฤติแล้วแพทย์จะหาสาเหตุที่แน่ชัดเพราะแต่ละสาเหตุมีผลต่อความรุนแรงและใช้วิธีการรักษาแตกต่างกันดังนั้นการซักถามประวัติผู้ป่วยจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญมากช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและหาวิธีแก้ไขได้ทันท่วงทีโดยแพทย์จะประเมินร่วมกับการตรวจด้วย ECG การทำ Chest X-ray รวมถึงการทำ Echo Cardiogram เป็นต้น หากพบว่าหัวใจมีการบีบตัวต่ำกว่า 40% เรียกว่า ภาวะหัวใจบีบตัวอ่อนกำลัง แต่แม้หัวใจจะบีบตัวมากกว่า 50% ก็ไม่ควรวางใจ เพราะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่นกัน


หัวใจล้มเหลวอันตรายแค่ไหน

มีข้อมูลระบุว่า ระยะเวลาหลังจากพบโรคหัวใจและโรคมะเร็งเท่ากัน ผู้ป่วยที่เคยผ่านภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อนมีโอกาสรอดชีวิต 50 คน ใน 100 คน แต่ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่ไม่รุนแรงมีโอกาสรอดชีวิตอยู่ได้ 90 คน ใน 100 คน ในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงมากและส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว แพทย์อาจมีตัวยาที่ช่วยให้ดีขึ้นได้บ้าง หรือปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยหลากหลาย อาทิ การใช้หัวใจเทียมเพื่อประคับประคองผู้ป่วย แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ อย่าปล่อยให้เกิดภาวะนี้ขึ้นกับตัวเราตั้งแต่แรกเริ่มหรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว


ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหว

แม้หลายปัจจัยอาจเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุหรือโรคบางโรค แต่พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว มีสาเหตุมาจากโรคที่เกิดจากภาวะเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ หากเป็นโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน ควรรักษาให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยลดโอกาสเผชิญกับภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากขึ้น


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมวิเคราะห์และวางแนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้บริการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยกลับมามีหัวใจที่แข็งแรง

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com