ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจอ่อนกำลัง (Heart Failure)
รู้จักภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจอ่อนกำลังไม่ได้หมายความว่าหัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่หัวใจอ่อนแอหรืออ่อนกำลังลง ทำให้การทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งปกติเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่ก็ยังมีวิธีต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยและแพทย์จะร่วมมือกันเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น
สาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลว
สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจอ่อนกำลังที่พบได้บ่อย เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดหัวใจวาย (Heart Attack) สาเหตุอื่นที่พบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ และการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ
สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดลดลง ทำให้ปริมาณเลือดไหลผ่านร่างกายลดลงด้วย หัวใจจึงพยายามปรับตัวให้ปริมาณเลือดซึ่งจะสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นปกติ ห้องหัวใจจึงขยายตัวเพื่อเก็บกักเลือดให้มากขึ้น ซึ่งจะทำได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะกล้ามเนื้อห้องหัวใจที่ยืดขยายนี้จะอ่อนล้าและไม่สามารถสูบฉีดได้ดีอีกต่อไป ในการบีบตัวแต่ละครั้ง หัวใจที่อ่อนกำลังจะสูบฉีดเลือดได้น้อยลงส่งผลให้
- มีน้ำ (ของเหลว) ค้างในปอด
- ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น ไต
- ไตขจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ลดลง น้ำจึงคั่งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดเป็นลักษณะบวมน้ำ ซึ่งเป็นวงจรที่ทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจอ่อนกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ
อาการภาวะหัวใจล้มเหลว
อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจอ่อนกำลังอาจมีหลายอาการร่วมกันหรือมีเพียงอาการเดียวก็ได้ เช่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- อึดอัด หายใจลำบากเมื่อออกกำลังกาย
- หายใจลำบากเมื่อนอนหงาย
- ตื่นกลางดึกเพราะไอหรือหายใจลำบาก
- ข้อเท้าหรือเท้าบวม
- เวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อย
- เข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน
รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
เมื่อเป็นโรคภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจอ่อนกำลัง ผู้ป่วยและแพทย์สามารถร่วมมือกัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างสบายได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยก็ควรร่วมมือเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตบางอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร การจัดเวลารับประทานยา การสังเกตอาการความรู้สึก การบันทึกน้ำหนักตัว การแจ้งให้แพทย์รับทราบเมื่อรู้สึกแย่ลง