10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ
10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
1)
ความเชื่อ: คนอายุน้อย คนผอม ระดับไขมันในเลือดปกติจะไม่มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ
ความจริง: ในคนอายุน้อยและระดับไขมันเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีโอกาสเกิดโรคน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด เพราะโรคหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม และยังพบภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในกลุ่มคนอายุน้อยหรือนักกีฬาจากสาเหตุโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมชนิดหนาตัว (Hypertrophic Cardiomyopathy)
2)
ความเชื่อ: คนที่เป็นโรคหัวใจห้ามออกกำลังกาย
ความจริง: การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น เพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะภายใน และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลเป็นรายบุคคล
3)
ความเชื่อ: เมื่อรับประทานยาลดไขมันแล้ว สามารถรับประทานอาหารอะไรก็ได้
ความจริง: ไขมันในเลือดสร้างมาจากตับและมาจากแหล่งอาหาร เมื่อรับประทานยาลดไขมันจะช่วยลดไขมันที่สร้างมาจากตับ แต่ไม่ได้ช่วยลดไขมันที่มาจากอาหาร หากรับประทานอาหารที่มีไขมันมากก็จะทำให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่ม
4)
ความเชื่อ: คนที่เป็นเบาหวานและรับประทานยาคุมเบาหวานจะไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
ความจริง: การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยลดหรือทำให้โรคหัวใจพัฒนาได้ช้าลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองแตก ตีบ ตัน (Stroke) ได้ เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงจะทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และทำลายผนังหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเส้นเลือด ส่งผลทำให้เส้นเลือดเปราะง่ายขึ้น
5)
ความเชื่อ: ไม่จำเป็นต้องตรวจไขมันในเลือดจนกว่าจะอายุเข้าสู่วัยกลางคน
ความจริง: การตรวจไขมันเลือดตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ สมาคมโรคหัวใจอเมริกา ได้แนะนำให้ตรวจระดับไขมันในเลือดทุก ๆ 5 ปี หลังอายุครบ 20 ปี
6)
ความเชื่อ: ความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ
ความจริง: ถึงแม้ว่าความดันโลหิตในผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มสูงกว่าปกติจากผนังหลอดเลือดแข็งตัวขึ้น ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานหนักขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย และโรคเส้นเลือดสมอง แตก ตีบ ตัน (Stroke) ได้ จึงควรควบคุมความดันโลหิตไม่ให้เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
7)
ความเชื่อ: ผู้หญิงจะไม่เป็นโรคหัวใจ เพราะมีฮอร์โมนเพศหญิงควบคุมไม่ให้เป็นโรค
ความจริง: การเกิดโรคหัวใจเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และพบในผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขี้นไป
8)
ความเชื่อ: หากในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ เราก็ต้องเป็น ไม่สามารถป้องกันได้
ความจริง: ถึงแม้ว่าคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงกว่า แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ โดยการควบคุมความเสี่ยงของการเกิดโรค คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมัน ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
9)
ความเชื่อ: หากป่วยเป็นโรคหัวใจต้องงดอาหารที่มีไขมันทั้งหมด
ความจริง: ไขมันที่ต้องงดคือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันที่ผ่านขบวนการเติมไฮโดรเจน หรือไขมันทรานส์ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ คุกกี้ ไขมันจากสัตว์ แต่ไขมันที่มีประโยชน์ก็สามารถรับประทานได้ เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวจากพืช ปลาที่มีไขมัน เช่น แซลมอน ถั่วต่าง ๆ และน้ำมันมะกอก ซึ่งมีโอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อร่างกาย
10)
ความเชื่อ: ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ต้องเริ่มจากมีอาการแน่นหน้าอก
ความจริง: ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอกเริ่มก่อน แต่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจแสดงอาการอย่างอื่นเช่นกัน คือ หายใจไม่อิ่ม หายใจสั้น คลื่นไส้ ปวดหัว หรือรู้สึกไม่สุขสบายบริเวณ แขน กราม คอ และหลัง ในคนที่เป็นโรคหัวใจ หากมีอาการสงสัยต้องรีบมาโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาลทันที