โรคหัวใจมีหลายประเภทที่คุณควรรู้

โรคหัวใจมีหลายประเภทที่คุณควรรู้
แชร์

โรคหัวใจที่สำคัญมีหลายประเภทและมีอาการแตกต่างกัน ควรรู้ให้เท่าทัน เพื่อให้พร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธี

1) ภาวะหัวใจล้มเหลว / หัวใจอ่อนกำลัง (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่า หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่หัวใจอ่อนแอหรืออ่อนกำลังลง ทำให้การทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งปกติเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่ก็ยังมีวิธีต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยและแพทย์จะร่วมมือกันเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น


2) หลอดเลือดหัวใจตีบตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือด เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

อาการ
เจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย จุกแน่น เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือที่เรียกว่า หัวใจพิบัติ (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน


3) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ เนื่องจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การส่งกระแสลัดวงจร มีแผลเป็นหรือก้อนไขมัน ทำให้หัวใจมีจุดที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

อาการ ใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หมดสติ หรือ หัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็วของหัวใจเต้น ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งสาเหตุ อย่างไรก็ตามถ้าหัวใจบีบตัวได้ปกติ โอกาสเกิดหัวใจวายก็น้อย

การรักษา ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำได้โดยการรักษาด้วยยา เริ่มด้วยยาคลายเครียด ในกรณีที่จับความผิดปกติไม่ได้ แต่ถ้าพบความผิดปกติจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์อาจให้ยาต้านการเต้นผิดปกติกลุ่มต่าง ๆ หรือยาอื่น ๆ หรือใช้วิธีการจี้หัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุและการฝัง เครื่องมือพิเศษ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม สูบบุหรี่ ดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การรับประทานยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ เป็นต้น


4) หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

หลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกายมีหน้าที่นำเลือดแดงจากหัวใจส่งไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย  มีความยาวตั้งแต่ในช่องอกจากหัวใจไปจนถึงช่องท้อง ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหลอดเลือด ไม่ว่าจะเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือความผิดปกติอื่นใดก็จะมีผลทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดการโป่งพองและแตกออกได้  ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องและในช่องอก


5) หัวใจพิการแต่กำเนิด

เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โรคหัวใจพิการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการมีรูโหว่ที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดออกผิดจากตำแหน่งปกติ เป็นต้น สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)


6)  หัวใจรูห์มาติก

พบในเด็กอายุ 7 – 15 ปี สัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบตาฮีโมไลติก สเตร็ปโตคอคคัสที่ลำคอ ซึ่งทำให้คออักเสบ ไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอาการอักเสบที่หัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจ ปวดบวมที่ข้อ และมีผื่นที่ลำตัว ในรายที่เป็นมากทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการอักเสบซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่หรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจตีบแคบลงหรือรั่ว

อาการโรคหัวใจในเด็ก
อาการที่พบบ่อยในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคหัวใจเด็กที่เกิดภายหลังคลอด ได้แก่
•  ดูดนมแล้วเหนื่อยง่าย
•  หายใจเร็วกว่าปกติ บางรายมีอาการคล้ายหอบหลังออกกำลังกาย
•  เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
•  น้ำหนักตัวไม่ค่อยเพิ่ม เลี้ยงไม่ค่อยโต หรือเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
•  หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
•  เป็นหวัดบ่อยหรือปอดบวมบ่อยกว่าปกติ
•  ในบางรายมีตัวเขียวมาแต่กำเนิด หรือเขียวในช่วงหลัง 

 

รักษาโรคหัวใจในเด็ก สามารถให้การรักษาตามชนิดของโรคนั้น ๆ โดยทั่วไปมีวิธีรักษาดังต่อไปนี้

  • รักษาโดยการให้ยาบำรุงหัวใจ ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น ลดภาวะหัวใจวาย
  • รักษาโดยการใช้บอลลูนขยายตรงหลอดเลือดหรือลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ หรือใช้อุปกรณ์พิเศษอุดรูรั่วหรือเส้นเลือดผิดปกติโดยไม่ต้องผ่าตัด
  • ถ้าเด็กมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติสามารถให้ยาควบคุมการเต้นผิดปกตินั้น หรืออาจรักษาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้าบริเวณที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
  • รักษาโดยการผ่าตัดความผิดปกติของหัวใจ โดยอาจผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดในคราวเดียว หรืออาจผ่าตัดแบบประคับประคองก่อน เพื่อบรรเทาอาการ แล้วค่อยผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมด เมื่อเด็กโตขึ้น
แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com