รักษ์ใจ ใส่บาตร กับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

รักษ์ใจ ใส่บาตร กับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
แชร์
เมื่อปี 2550 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพร่วมกับสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักพระราชวัง จัดทำโครงการ “รักษ์ใจไหว้พระ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 มีการตรวจสุขภาพให้แก่พระสงฆ์จำนวน 82 วัด โดยมีการตรวจวัดความดัน ตรวจเลือด และตรวจสุขภาพ ผลปรากฏว่ามีพระสงฆ์ 1,994 รูป แม่ชี 108 รูป และฆราวาส 142 คน เป็นความดันโลหิตสูง 25% มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง 36% และมีระดับไขมันในเลือดสูง 50% นอกจากนี้พระภิกษุสงฆ์มีอัตราเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในอีก 10 ปีข้างหน้า 19% (จาก 1,994 รูป เป็น 370 รูป)

เมื่อผลตรวจเป็นเช่นนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจึงได้ทำโครงการต่อเนื่องที่เรียกว่า “รักษ์ใจใส่บาตร” ขึ้น จากแนวคิดของนพ.กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลอง 80 พรรษา ในปี 2555 รายได้จากโครงการนี้จะนำมารักษาพระภิกษุสงฆ์อย่างต่อเนื่อง

“รักษ์ใจใส่บาตร” หนึ่งในโครงการต่อเนื่องจากโครงการ “รักษ์ใจไหว้พระ” เป็นหนังสือที่ชี้แนะวิธีการทำบุญตักบาตรการถวายภัตตาหารที่ถูกลักษณะโภชนาการแด่พระภิกษุสงฆ์และเสริมความรู้เรื่องอาหารเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของฆราวาสทั้งหลายในการทำบุญ โดยให้คำนึงถึงสุขภาพของท่าน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นแนวทางที่เราจะได้ทำบุญตักบาตรอย่างถูกต้อง และไม่ไปทำลายสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์อีกต่อไป
ทำบุญใส่บาตรในอดีต

เวลาเราทำบุญฉลองวันเกิด ทำบุญงานแต่งงาน ทำบุญเปิดร้าน หรือทำบุญผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พวกเราตั้งใจจะถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารที่ดีที่สุด แสนอร่อย และเป็นอาหารที่หาได้ยากกันทั้งนั้น โดยเฉพาะการทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะนึกเมนูอาหารที่เขาชอบรับประทานมาถวายพระ ถ้าเป็นคนที่มีฐานะดี ก็อยากถวายภัตตาหารประเภทตับห่านทอด หมูหัน หรือเป็ดปักกิ่ง ตามด้วยขนมที่แสนจะหวานมันอร่อยที่เต็มไปด้วยครีม นม เนย ไข่ โดยคิดว่าพระได้ฉันแล้วก็เสมือนว่าผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับส่วนบุญไปด้วยเช่นกัน

จากการที่นพ.กิติพันธ์ได้ไปตรวจสุขภาพของพระ 82 วัดในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่มีโอกาสที่จะได้เลือกอาหาร โดยคุณหมอเตือนเรื่องอาหารต้องห้ามไว้แล้ว แต่การที่อยากให้พระได้ฉันของอร่อย ๆ คือต้นเหตุของการทำให้สุขภาพของพระภิกษุสงฆ์เสื่อมลง เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ควรคำนึงถึงประเภทของอาหารที่มาถวาย ไม่ควรเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ 

อาหารต้องห้ามสำหรับพระภิกษุสงฆ์

การทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ควรคำนึงถึงประเภทของอาหารที่เราจะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ไม่ทำให้สุขภาพของท่านเสื่อมโทรมลง มี 3 ประเภทที่ต้องระวัง ได้แก่ เค็มจัด หวานจัด และมันจัด

1) เค็มจัด : ที่มาโรคความดันโลหิตสูง
โรคนี้เป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ในเวลาต่อมา การบริโภคอาหารสำหรับคนไทยหรือพระภิกษุสงฆ์มักจะชอบรับประทานอาหารที่มีรสจัด ทั้งเปรี้ยว ทั้งเค็ม ทั้งหวาน ซึ่งอะไรก็ตามที่มากเกินไป ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเวลาปรุงอาหารถวายพระควรจะคำนึงถึงรสชาติของอาหารที่ไม่เค็มจนเกินไปและควรเพิ่มใยอาหารให้สูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าต้องมีธัญพืช ผัก และผลไม้รวมอยู่ด้วย ดังนั้นทุกมื้ออาหารต้องให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยไม่วางตนเองเป็นเครื่องวัดความอร่อย หรือกลัวว่าพระท่านจะฉันไม่อร่อย เพราะจะไปทำลายสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์

2) หวานจัด : ที่มาโรคเบาหวาน
การทานหวานมาก ๆ ทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก ในที่สุดตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอจึงเกิดเป็นเบาหวาน ข้าวหรือคาร์โบไฮเดรตทั้งหลายกลายเป็นน้ำตาลเมื่อถูกย่อย เพราะฉะนั้นเวลาใส่บาตรหรือถวายข้าว ควรเป็นข้าวกล้องจะดีที่สุด ไม่ว่าจะสีดำ น้ำตาล หรือสีแดงก็ตาม เพราะว่าข้าวกล้องมีแร่ธาตุ มีวิตามินที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ที่สำคัญมีกากใยสูงกว่าข้าวขาว ช่วยในการย่อยและขับถ่ายได้ดี นอกจากนี้ควรถวายผลไม้แทนของหวานประเภทเบเกอรี่ ทั้งเค้ก ทั้งพาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูงทั้งสิ้น หากเป็นขนมไทย ควรถวายในปริมาณน้อย ๆ ถ้วยเล็ก ๆ หากเป็นเบาหวานแล้ว ต้องควบคุมโดยไม่ใส่น้ำตาล ซึ่งสามารถช่วยพระภิกษุสงฆ์ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี อีกสิ่งที่จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ คือ การออกกำลังกาย

3) มันจัด : ที่มาโรคไขมันในเลือดสูง
สาเหตุหลักคือ กินของทอด เพราะอาหารทอด ต้องแกล้มกับน้ำจิ้มที่รสจัดจ้าน ทั้งเค็ม ทั้งหวาน ทั้งเปรี้ยวถึงจะอร่อย จึงบริโภคอาหารทอดเป็นจำนวนมาก ๆ ในการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ควรถวายครบ 5 หมู่ โดยหลีกเลี่ยงของทอดที่ใช้น้ำมันมาก ๆ งดโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังไก่ทอด เป็นต้น เลือกใช้วิธีปรุงอาหารอย่างอื่นแทน เช่น การต้ม การนึ่ง การผัด หรือการย่าง

อาหารถวายพระที่ดีสำหรับสุขภาพควรเป็นน้ำพริกกับผักเยอะ ๆ จะดีที่สุด ส่วนโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ที่ใช้นั้นควรจะป็นประเภทปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันมากจนเกินไป ส่วนกุ้ง ปลาหมึก หอย มีคอเลสเตอรอลสูงมากควรจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะพะแนงกุ้งแม่น้ำเป็นอาหารที่แสลงมากสำหรับคนที่กลัวเป็นโรคไขมันในเส้นเลือดสูง

อาหารป้องกันโรคหัวใจและโรคไขมันในเลือดสูง

เลือกอาหารเพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคไขมันในเลือดสูง
  • เลือก         บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว สลับเปลี่ยนด้วยเต้าหู้บางมื้อในปริมาณที่เหมาะสม
  • เลี่ยง          อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ไอศกรีม และของหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ
  • เลือก         ขนมปังธัญพืช คุกกี้ธัญพืช เผือกต้ม มันต้ม ข้าวโพดต้ม
  • เลี่ยง          อาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ ขนมครก ข้าวเหนียวทุเรียน และของหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ หรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก ๆ เช่น ปาท่องโก๋ ทอดมัน ไก่ทอด กล้วยแขก
  • เลือก         ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารที่มีปริมาณน้อย ๆ หรือไม่ใส่น้ำมันเลยจะดีมาก
  • เลี่ยง          การใช้เนยมาแทนน้ำมัน เพราะเนยมีคอเลสเตอรอลสูงมาก
  • เลือก         บริโภคผักสดหรือผักลวกเป็นประจำทุกมื้อ
  • เลี่ยง          ผลไม้รสหวานจัด ขนมหวานจัด เช่น ทุเรียน สับปะรด เงาะ องุ่น ผลไม้กวนหรือแช่อิ่ม ของเชื่อม และขนมหวานต่าง ๆ

เลี่ยงอาหารป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

  • อาหารดองเค็มทุกชนิด ได้แก่ ปลาเค็ม ไข่เค็ม ปูเค็ม หัวไชโป๊ ผักและผลไม้ดองเค็มทุกชนิด
  • อาหารที่มีเกลือมาก ได้แก่ กะปิ เต้าเจี้ยว ไตปลา ปลาร้า เต้าหู้ยี้
  • สิ่งปรุงแต่งจำพวกซุปก้อน ผงชูรส ผงปรุงรสต่าง ๆ รวมถึงงดการปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสเค็มทุกชนิด

 

ทำบุญใส่บาตรเพื่อสุขภาพพระสงฆ์

การเลือกอาหารใส่บาตรที่ถูกหลักโภชนาการจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพพระสงฆ์ อาหารที่ดีและมีคุณค่านั้น คือ พืชผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งอุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่ช่วยดูดซับสารพิษและยังมีแร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นทั้งอาหารและยาช่วยป้องกันรักษาโรคไปในตัว เพราะฉะนั้นอาหารที่ควรนำมาใส่บาตรควรเป็นอาหารหลักจากธัญพืช อาหารที่มีแร่ธาตุ ผักและผลไม้เสียส่วนใหญ่


1) อาหารหลักจากธัญพืช

ธัญพืช คือ พืชจำพวกหญ้าที่นำมาเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด นั่นคือ ข้าวประเภทต่าง ๆ โฮลวีต รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและซับซ้อน มีเส้นใยสูง มีวิตามินบี อี และสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดี ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ อาทิ
  • ข้าวกล้อง/ข้าวซ้อมมือให้พลังงานแก่ร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว มีใยอาหารมากช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
  • ถั่วเหลือง มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก เพิ่มแคลเซียม ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล
  • งาดำ มีโปรตีน ไขมัน วิตามินต่าง ๆ สังกะสี ฯลฯ ช่วยบำรุงระบบประสาทในสมอง ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ และมีสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยต่อต้านมะเร็ง
  • ลูกเดือย มีโปรตีน ไขมัน วิตามินต่าง ๆ และเส้นใยอาหาร ช่วยบำรุงม้าม ปอด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก
  • เม็ดบัว มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินต่าง ๆ ช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงไต ไขข้อ และลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ
  • เห็ดหอม มีโปรตีน ไขมัน วิตามินต่าง ๆ และเส้นใยอาหารช่วยบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดปริมาณไขมันในเลือดและคอเลสเตอรอล

2) อาหารที่มีแร่ธาตุ

ส่วนใหญ่จะเป็นผักที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง แถมยังมีเส้นใยที่ช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุสูงจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือเกาะผนังหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล ฉะนั้นแร่ธาตุที่สำคัญในอาหาร ได้แก่

  • แคลเซียม มีคุณสมบัติช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง โดยมีแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกัน เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี ฟลูออไรด์ การดูดซึมแคลเซียมของร่างกายต้องอาศัยวิตามินดี หากขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน การแข็งตัวของเลือดไม่ดี อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ตำลึง คะน้า ใบขึ้นช่าย นมสด ไข่ เนย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาไส้ตัน เป็นต้น
  • ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซียม ฉะนั้นอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มักจะมีแคลเซียมสูงด้วย โดยเฉพาะในผักใบเขียว นม ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
  • แมกนีเซียม ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทการสร้างโปรตีน การใช้กำมะถันและฟอสฟอรัสในร่างกาย ซึ่งมีในพืชใบเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดพืช เช่น รำข้าว ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก
  • เหล็ก เป็นองค์ประกอบอยู่ในเลือด ควรทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง ๆ จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่แดง กุ้ยช่าย เป็นต้น ถ้าขาดธาตุนี้จะเกิดโรคโลหิตจาง อ่อนเพลีย และมีผลต่อสมอง
  • โซเดียม ทำหน้าที่ร่วมกับโพแทสเซียมในการควบคุมน้ำในร่างกายและการนำประสาท ถ้าขาดธาตุนี้จะเป็นตะคริว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่หากทานโซเดียมมากไปอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ธาตุนี้พบมากในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว นม เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ
  • โพแทสเซียม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อและนำกระแสประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจ และรักษาระดับของเหลวในเซลล์ ส่วนมากอยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นม กล้วย และผักใบเขียวต่าง ๆ
  • วิตามิน เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ แบ่งออกเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค กับวิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่าง ๆ และวิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ตระกูลส้ม
  • กรดโฟลิก มีความสำคัญในกระบวนการสร้าง DNA ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง การพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก พบมากในตับ เนื้อ นม เห็ด ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวโพด บรอกโคลี อะโวคาโด

 

3) ผักเพื่อสุขภาพ

ผักที่จะนำไปประกอบอาหารควรเลือกซื้อให้ถูกต้องตามฤดูกาล เพราะจะได้ผักที่สด งาม และราคาถูก โดยเฉพาะผักที่มีเครื่องหมาย “ผักอนามัย” หรือผักจากโครงการผักปลอดสารพิษ เพื่อให้แน่ใจว่าปราศจากสารพิษตกค้าง ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วใช้มือถูบนใบผักเบา ๆ จะช่วยให้สารพิษตกค้างหลุดออกได้ง่าย เมื่อมั่นใจแล้วต้องดูว่าผักแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

  • กระเทียม มีฤทธิ์รักษาโรคหัวใจ วัณโรค ไทฟอยด์ โรคปอด หืด ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดัน
  • กะเพรา มีเบตาแคโรทีน ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
  • กุ้ยช่าย มีวิตามินซี เบตาแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง มีกากใยอาหารสูงช่วยลดการเกิดริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ขมิ้น มีสารเคอร์คูมินที่มีฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง รักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดี โรคกระเพาะอาหาร และรักษาอาการอักเสบของผิวหนัง
  • ขิง/ข่า สรรพคุณทางยาคล้ายกัน ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เฟ้อ แน่นจุกเสียด
  • หัวปลี มีกากใยอาหารมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ มีธาตุเหล็กไปบำรุงเลือด ทำให้ผิวพรรณดี
  • ผักโขม มีเส้นใยอาหารมาก ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นแหล่งเบตาแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา
  • ผักบุ้ง อุดมด้วยวิตามินเอ ป้องกันการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา มีธาตุเหล็กช่วยบำรุงเลือด และช่วยลดน้ำตาลในเลือด สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ผักบุ้งจีนมีแคลเซียมมากกว่าผักบุ้งไทย ส่วนผักบุ้งนาที่มียอดสีแดงมีสรรพคุณทางยามากที่สุด
  • มะระ มีวิตามินซีและเบตาแคโรทีน น้ำคั้นจากผลมะระใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • สาหร่ายทะเล อุดมด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และกรดโฟลิก ลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ขึ้นฉ่าย มีวิตามินซีสูง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีสารพิษที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยลดความดันโลหิต
  • คะน้า เป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่มากมาย มีแคลเซียมสูง ช่วยลดการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้ ลำคอ ปอด
  • แครอท อุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน ป้องกันมะเร็งปอด รักษาโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังและสายตา
  • ใบบัวบก อุดมด้วยวิตามินบี 1 เบตาแคโรทีน เหล็ก ฟอสฟอรัส และแคลเซียม มีสรรพคุณแก้ช้ำใน บำรุงหัวใจ ลดความดันเลือด ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยบำรุงสมองให้แข็งแรงและมีความจำดี
แชร์