เทคนิคผ่าตัดส่องกล้องในช่องอกด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า ENB GUIDED UNIPORTAL VATS
เนื่องจากปัจจุบันด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำบริเวณทรวงอก (Low Dose CT Chest – LDCT) ให้ภาพ 3 มิติที่มีรายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด สามารถพบจุดในปอดที่เล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้ ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยมีก้อนเนื้อที่อาจจะเป็นมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก หากทำการรักษาได้โดยเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการลุกลามของมะเร็งได้ในอนาคต และสามารถเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็งปอดได้สูงถึง 92% ในระยะที่ 1A1
การตรวจจุดในปอดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรนั้นยากและมีโอกาสไม่ได้คำตอบ (Non Diagnostic) สูงกว่าชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ บ่อยครั้งที่การตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางหลอดลม (Transbrochial Biopsy) หรือการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำทางเพื่อใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (CT Guided Needle Biopsy) ไม่สามารถนำชิ้นเนื้อที่ต้องสงสัยไปตรวจได้ ดังนั้นการตรวจชิ้นเนื้อจึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด (Surgical Biopsy)
การทำ Surgical Biopsy ในปัจจุบันใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องทางช่องอกหรือ Video – Assisted Thoracic Surgery (VATS) เป็นหลัก โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพได้นำเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องในช่องอกด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy Guided Uniportal Video – Assisted Thoracic Surgery -ENB Guided Uniportal VATS) โดยนำเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว Uniportal VATS และเทคโนโลยีกล้องผ่าตัด 4K ทำให้สามารถผ่าตัดด้วยความมั่นใจว่าสามารถเห็นรายละเอียดของช่องอกได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามจุดในปอดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ลักษณะเป็นฝ้า / Ground Glass Opacity (GGO) และลึกลงไปในเนื้อปอดนั้น การใช้ระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยในการหาตำแหน่งของจุดเหล่านั้นด้วยความชัดเจนมากขึ้น
ระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้านั้นใช้หลักการเดียวกับ Google Map ในมือถือของเรานั่นเอง ซึ่งจะมีการใช้อุปกรณ์ดังต่อไปนี้
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดของคนไข้เป็นแผนที่ (Pre – Loaded Map)
- แผ่นสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Location Board for Electromagnetic Field)
- ดาวเทียมเสมือนวางบนตัวคนไข้ (Patient Sensor Triplet)
- ตัวรับสัญญาณผ่านทางกล้องส่องหลอดลม (Locatable Guide via Bronchoscopy)
อุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดหาจุดในปอดได้อย่างถูกต้องทำให้แพทย์สามารถกำหนดจุดตำแหน่งด้วยสีทางการแพทย์หรือขดลวดได้เมื่อทำการส่องกล้องทางช่องอก (VATS) แพทย์ผู้ผ่าตัดจะสามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจได้อย่างถูกต้องชัดเจน