ECMO เทคโนโลยีเครื่องปอดและหัวใจเทียมช่วยชีวิต
การรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤติให้มีโอกาสรอดชีวิตรวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญของการช่วยชีวิต ซึ่งเครื่องเอคโม่ (ECMO) ปอดเทียมหรือหัวใจเทียม คืออีกหนึ่งทางเลือกของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการช่วยชีวิตผู้ป่วยในนาทีชีวิตฉุกเฉินให้กลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง
โรคหัวใจถึงชีวิต
หัวใจเป็นอวัยวะที่เกิดภาวะวิกฤติได้ตลอดเวลา โรคหัวใจในผู้ใหญ่ที่พบบ่อยคือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จะเริ่มพบบ่อยในผู้ชายตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะเริ่มมากขึ้นเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป โรคหัวใจในผู้ใหญ่ที่เจอบ่อยมักมาจากการเสื่อมของหลอดเลือด ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ คือ ความดันโลหิตสูงนาน ๆ ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็ว โดยจะเสื่อมทั้งร่างกาย เพียงแต่แสดงออกมาที่อวัยวะสำคัญ ๆ ก่อน เช่น หัวใจ ไต สมอง ทำให้เห็นบางคนหมดสติ หัวใจวาย ส่วนหนึ่งมาจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเสียชีวิตโดยยังไม่ทันมาโรงพยาบาล เพราะไม่เคยตรวจร่างกายมาก่อน
ความสำคัญของ ECMO
เครื่องเอคโม่ ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) คือ เครื่องที่ใช้พยุงปอดและหัวใจโดยใช้การดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วยแล้วนำมาฟอกผ่านเครื่องที่ควบคุมอุณหภูมิและออกซิเจน ตัวเครื่องทำหน้าที่คล้ายปั๊มน้ำส่งคืนเลือดกลับเข้าไปในร่างกาย สามารถทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ในกรณีที่ปอดและหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
หลักการทำงานของ ECMO
หลักการทำงานของเครื่อง ECMO ประกอบไปด้วย
- ดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วย ด้วยการใส่ท่อพลาสติกที่มีขนาดใหญ่เท่าหัวแม่มือผ่านหลอดเลือดตามแขน คอ หรือขา บางกรณีอาจใส่ตรงเข้าไปในหัวใจก็ได้เช่นกันโดยการเปิดหน้าอกเข้าไป แต่ส่วนใหญ่มักจะใส่จากบริเวณขาหนีบขึ้นไปถึงหัวใจ ซึ่งการใส่จะต้องไม่ทำอันตรายกับหลอดเลือดและไม่ทะลุเข้าหัวใจ
- ท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายมีอย่างน้อย 2 ท่อ ท่อหนึ่งเป็นการเอาเลือดออกจากร่างกาย อีกท่อหนึ่งเอาเลือดกลับเข้าร่างกาย เมื่อเอาเลือดออกจากร่างกายเข้ามาในตัวเครื่องแล้ว ตัวเครื่องจะเติมออกซิเจนแล้วปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ในการปรับอุณหภูมิอย่างกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ หรือกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นมาเป็นเวลานาน ต้องการให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำเพื่อจะรักษาเซลล์ในสมองจะใช้การควบคุมอุณหภูมิจากตัวเครื่อง
- ส่วนการเติมออกซิเจนในบางกรณีเจอผู้ป่วยโรคปอดที่ทำให้ปอดไม่ยอมทำงาน เช่น การติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยโควิด-19 บางส่วนมีเชื้อโรคเข้าไปทำลายปอด ทำให้ปอดหยุดทำงานไปชั่วขณะหนึ่งซึ่งอาจจะนานเป็นหลายสัปดาห์ การใช้เครื่อง ECMO สามารถช่วยซื้อเวลาได้ โดยการเติมออกซิเจนเข้าไปในเลือดทดแทนการทำงานของปอด โดยมีหลักการคือ ดึงเอาเลือดออกมาแล้วเติมออกซิเจนข้างนอกด้วยการผ่านตัวปั๊มแล้วส่งกลับคืนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วยโรคปอด ไม่ว่าจะเป็นปอดติดเชื้อ ปอดเกิดการอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ก็สามารถใช้เครื่องตัวนี้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
- เมื่อเติมออกซิเจนเสร็จเรียบร้อยต้องผ่านตัวปั๊มที่มีหน้าตาเหมือนกรวยที่ทำการปั่นเลือดแล้วคืนกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ซึ่งตัวปั๊มนี้สามารถใช้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้ ดังนั้นในกรณีที่หัวใจไม่ยอมเต้น เช่น หัวใจวายหรือผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วไม่ทำงาน สามารถใช้เครื่องมือนี้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้ นอกจากนี้ในระหว่างที่นำผู้ป่วยมาปั๊มหัวใจหรือสวนหัวใจ ทำการรักษา เตรียมการผ่าตัด สามารถใช้เครื่อง ECMO ช่วยให้ผู้ป่วยมีความดันอยู่ในหลอดเลือดในปริมาณที่พอจะเลี้ยงสมองและอวัยวะต่าง ๆ ได้
รางวัล ECMO แห่งความภูมิใจ
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพได้นำเครื่อง ECMO มาใช้ในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพอย่างรอบด้านจนได้รับรางวัล ELSO Award of Excellence in Extracorporeal Life Support ในปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับทีม ECMO จากโรงพยาบาลที่มี ECMO Service ทั่วโลก โรงพยาบาลที่เคยได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับโลกในทวีปอเมริกาและยุโรป เช่น Mayo Clinic Rochester, Oregon Health & Science University, The Royal Brompton Hospital, University of Pittsburgh Medical Center, Boston Children’s Hospital, Cleveland Clinic, Duke University Hospital, Massachusetts General Hospital, Northwestern Memorial Hospital, Stanford Hospital and Clinics, The University of Chicago Medical Center
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพนับเป็นแห่งที่ 3 ในแถบเอเชียตะวันออก ถัดจาก National Taiwan University Hospital และ Chonnam National University Hospital ที่ได้รับรางวัลนี้ โดยพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ในการดูแลผู้ป่วยด้านต่าง ๆ ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่
- Systems Focus ลักษณะศูนย์บริการ การจัดระบบดูแลรักษาผู้ป่วย
- Environmental Focus จำนวนห้องไอซียู อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ
- Workforce Focus จำนวนบุคลากรที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย
- Knowledge Management การแลกเปลี่ยนความรู้ในโรงพยาบาล การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์และบุคลากรต่าง ๆ เช่น การประชุม การปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
- Quality Focus ผลสัมฤทธิ์ในการดูแลผู้ป่วยจากข้อมูลผู้ป่วยในการใส่เครื่อง ECMO วันเวลาที่ใส่เครื่อง ECMO ลักษณะการใส่เครื่อง ECMO การลงฐานข้อมูลเครื่อง ECMO ที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับผลของ ECMO Service อื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคะแนนที่นำมาพิจารณาการได้รับรางวัล
- Process Optimization พิจารณาว่าการทำงานของทีม ECMO โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพสอดคล้องกับคำแนะนำที่ให้หรือไม่ โดยทางการแพทย์จะมีงานวิจัยใหม่ทุกปี ทางทีม ECMO โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจะนำความรู้มาปรับใช้กับการทำงานของทีม โดยมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ
- Patient & Family Focus มากกว่าการดูแลผู้ป่วยคือการดูแลครอบครัวของผู้ป่วย ในบางกรณีอาจนำนักจิตวิทยา จิตแพทย์เข้ามาอยู่ในทีม เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งผู้ป่วยและญาติสามารถรักษาร่วมกับทีมแพทย์ได้
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพพร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในทุกระดับความรุนแรง โดยมีแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาที่มีความชำนาญ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างเหมาะสมและถูกเวลา เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย