ECMO พยุงหัวใจและปอดให้ผู้ป่วย COVID-19
ผู้ป่วย COVID-19 หลังจากได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวและความรุนแรงแตกต่างกัน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากเครื่องช่วยหายใจปรับระดับสูงสุดแล้วยังเติมออกซิเจนให้ร่างกายได้ไม่เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาทางเลือกในการรักษาคือ ECMO เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้หัวใจและปอดทำงานได้ในช่วงเวลาที่อ่อนแอ ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย COVID-19
COVID-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด
เชื้อ COVID-19 ทำลายเซลล์ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์โดยตรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาด้วยอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความดันเลือดสูง ความดันปอดสูง ทำให้สารน้ำในปอดและในหลอดเลือดหลุดออกนอกเซลล์ ส่งผลให้เนื้อปอดบวมหรืออักเสบตามมา เชื้อ COVID-19 จึงไม่เพียงทำลายเซลล์ แต่ยังทำลายระบบควบคุมความดันเลือดในปอด ส่งผลให้การทำงานของปอดเสียหาย เพราะฉะนั้นถ้าเชื้อ COVID-19 เข้าไปในกระแสเลือด แล้วไปจับที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจจะถูกทำลาย ผู้ป่วยบางรายจึงมาด้วยอาการคล้ายผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ข้อมูลจากเครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนิวยอร์กที่ตีพิมพ์ใน JAMA (Journal of American Medical Association) วารสารทางด้านการแพทย์จากสมาคมการแพทย์อเมริกันเมื่อเดือนเมษายน 2020 ระบุว่า 60% ของประชากรทั่วโลกจะมีการติดเชื้อ COVID-19 ในระยะยาว โดยผู้ป่วยที่เป็น COVID-19 มีโอกาสต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 15 – 20% และพักรักษาตัวในห้องไอซียู 5 – 10% และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย COVID-19 ที่พักรักษาตัวในห้องไอซียูจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเสี่ยงกับอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 80%
ผู้ป่วย COVID-19 กับเครื่อง ECMO
ในกรณีที่หัวใจและปอดถูกทำลายไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจได้ การช่วยชีวิตผู้ป่วยจะต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เพื่อเข้าไปทดแทนการทำงานของหัวใจและปอดในเวลาที่อ่อนแอให้ได้พักฟื้นอย่างเต็มที่ โดยระยะเวลาในการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ
รูปแบบการใส่เครื่อง ECMO สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- VV – ECMO ระบบช่วยแลกเปลี่ยนก๊าซที่ใช้กับปอดเท่านั้น โดยเลือดจะถูกดูดออกจากหลอดเลือดดำและสูบกลับเข้าไปอีกครั้งในระบบหลอดเลือดดำเช่นเดียวกัน
- VA – ECMO ระบบช่วยแลกเปลี่ยนก๊าซและสนับสนุนการไหลเวียนของเลือดใช้ในกรณีที่ต้องการพยุงการทำงานของหัวใจและปอด โดยเลือดจะถูกดึงออกจากระบบหลอดเลือดดำก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นเลือดแดงแล้วส่งคืนเข้าสู่ระบบหลอดเลือด เป็นระบบที่คล้ายคลึงกับที่ใช้ในห้องปฏิบัติการสำหรับการผ่าตัดหัวใจ
จากรายงานสถิติการใช้งานเครื่อง ECMO ในคนไข้ COVID-19 โดย ELSO (The Extracorporeal Life Support Organization) จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2020 มีผู้ป่วยทั่วโลกที่ต้องใช้เครื่อง ECMO ประมาณ 975 ราย มีสถิติการรอดชีวิตจนกลับจากโรงพยาบาลอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับโรคปอดอื่น ๆ ที่มีการใช้เครื่องECMO อัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 60% แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่อง ECMO ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตามผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสเสียชีวิต แม้จะใช้เครื่อง ECMO หากเชื้อ COVID-19 เข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ของร่างกายจนล้มเหลว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ประโยชน์ของเครื่อง ECMO กับผู้ป่วย COVID-19
ประโยชน์ของเครื่อง ECMO กับผู้ป่วย COVID-19 ที่ชัดเจนที่สุดคือ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอวัยวะล้มเหลวหลายจุดหรือไม่สามารถกู้คืนได้ การใช้เครื่อง ECMO อาจไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญการจะเป็นผู้พิจารณาความจำเป็นในการใช้เครื่อง ECMO เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึงความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย “ปัจจุบัน ECMO เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในโลก เป็นเครื่องรุ่นล่าสุดที่เป็นมาตรฐานระดับสากลใช้ทำการรักษาทั่วโลก นอกจากนี้บุคลากรของเราผ่านการฝึกอบรมให้มีความชำนาญในการใช้เครื่อง ECMO เป็นอย่างดี ที่สำคัญเรามีศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย COVID-19 หรือผู้ป่วยทั่วไป เราพร้อมให้การดูแลครบทุกมิติ”