PFO โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว โรคที่นักดำน้ำต้องระวัง

ในปัจจุบันการดำน้ำเป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมทั้งแบบสมัครเล่นและอาชีพ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังและไม่ควรละเลยคือการตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดก่อนดำน้ำ เพราะอาจพบภัยเงียบจากโรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness) โดยเฉพาะผู้ที่มีผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Patent Foramen Ovale (PFO) จะมีความเสี่ยงสูงและอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
นักดำน้ำที่มีผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (PFO) มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคน้ำหนีบ (DCS) มากกว่านักดำน้ำที่มีสุขภาพปกติถึง 2.5 เท่า และหากรูรั่วมีขนาดใหญ่ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากถึง 44% และมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 4 เท่า”
โรคที่พบบ่อยในนักดำน้ำ
ในนักดำน้ำโรคที่พบได้บ่อยและมีอันตรายมากคือโรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness) หรือ เบนด์ (Bend) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะความกดอากาศในการดำน้ำลึกและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขณะขึ้นมาบนผิวน้ำ ส่งผลให้แก๊สเฉื่อยหรือไนโตรเจนในร่างกายขยายตัว รวมตัวจนเกิดฟองก๊าซไปอุดตันในกระแสเลือด ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการบาดเจ็บและมีอาการผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะการดำน้ำลึกเกิน 30 ฟุตหรือประมาณ 10 เมตร จะเพิ่มโอกาสโรคน้ำหนีบมากขึ้นจากการที่ก๊าซไนโตรเจนก่อตัวใหญ่ขึ้นขณะขึ้นมาสู่ระดับน้ำตื้นหรือขึ้นสู่ผิวน้ำที่เร็วเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ความเสี่ยงนั้นเกี่ยวข้องกับเทคนิคการดำน้ำที่ไม่ถูกต้อง ระยะดำน้ำที่ลึกมาก การใช้เวลาดำน้ำที่นาน สภาพแวดล้อมเย็น นอกจากนั้นมีกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน มีภาวะขาดน้ำ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Patent Foramen Ovale (PFO) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
โรคที่ซ่อนเร้นจากการดำน้ำ
ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO หรือ Patent Foramen Ovale คือรูรั่วขนาดเล็กระหว่างผนังกั้นหัวใจห้องบนขวาและห้องบนซ้าย เป็นความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิดที่พบได้ในคนส่วนน้อย ประมาณ 75% ของผู้ที่มีรูรั่วจะมีการปิดของรูรั่วภายในอายุ 2 ขวบ แต่ในบางรายรูรั่วจะไม่ปิด ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดเกิดขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางรายมาพบแพทย์ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ปวดหัวแบบไมเกรน สำหรับการดำน้ำลึกเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงให้ฟองไนโตรเจนข้ามผนังกั้นหัวใจห้องบนขวาและห้องบนซ้ายหลุดไปอุดตันหลอดเลือดที่สมองหรืออวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันที่สมอง ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลัน พิการหรือเสียชีวิตได้
ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วในนักดำน้ำอันตรายแค่ไหน
หากนักดำน้ำมีผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิดโดยไม่รู้ตัวย่อมอันตรายอย่างมาก เพราะเมื่อเกิดการเบ่งหรือมีความดันในน้ำ ทำให้หัวใจห้องบนขวามีแรงดันเพิ่มขึ้นจนรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบนเปิดออกมากขึ้น ทำให้ฟองอากาศไนโตรเจนข้ามผนังกั้นหัวใจห้องบนขวาไปยังหัวใจห้องบนซ้ายและหลุดไปอุดตันหลอดเลือดที่สมอง ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลันได้
การรักษาผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว
การรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิดที่มีขนาดใหญ่ชนิด Atrial Septal Defect ใช้เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยใช้อุปกรณ์เข้าไปปิดรอยรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจ สำหรับการรักษาผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วขนาดเล็กชนิด Patent Foramen Ovale (PFO) การปิดรูรั่วด้วยอุปกรณ์พิเศษผ่านสายสวนเช่นเดียวกับการปิดรูรั่วขนาดใหญ่ โดยอุปกรณ์ที่เลือกใช้จะมีลักษณะที่ต่างกัน หลังจากการปิดรูรั่วด้วยอุปกรณ์ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อมาปกคลุมรูรั่ว โดยต้องทำการตรวจรักษาและติดตามอาการกับอายุรแพทย์หัวใจอย่างต่อเนื่องจนกว่ารูรั่วจะปิดสนิท หลังจากรักษาจนรูรั่วปิดสนิทโดยทั่วไปแล้วมากกว่าร้อยละ 95 รูรั่วจะปิดสนิทภายใน 3 เดือนหลังใส่อุปกรณ์และสามารถกลับไปดำน้ำได้อีกครั้ง หลังจากได้รับการตรวจและอนุญาตจากแพทย์ที่ทำการรักษา
เตรียมความพร้อมสุขภาพก่อนดำน้ำ
ในผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำและนักดำน้ำมืออาชีพก่อนดำน้ำแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจหรืออายุรแพทย์โรคหัวใจโดยการตรวจร่างกายและการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อตรวจวัดขนาดห้องหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ วัดความดันในห้องหัวใจ รวมทั้งสามารถตรวจหาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น รูรั่วที่ผนังก้อนหัวใจห้องบน เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติก่อนดำน้ำ
- เตรียมร่างกายให้พร้อม ตรวจเช็กสุขภาพ
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนดำน้ำ 24 – 48 ชั่วโมง
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
- ไม่ควรดำน้ำลึก ดำน้ำนานเกินไป เคลื่อนไหวมากเกินไป และขึ้นจากพื้นน้ำเร็วเกินไป
- หลังดำน้ำห้ามเดินทางโดยเครื่องบิน 18 – 24 ชั่วโมง
- ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนดำน้ำ
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ควรดำน้ำ
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO
นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี อายุรแพทย์โรคหัวใจ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลนักดำน้ำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ตรวจเช็กสุขภาพไปจนถึงการดูแลรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด PFO ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมาดำน้ำหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข
Reference
Denoble PJ, Holm JR, eds. Patent Foramen Ovale and Fitness to Dive Consensus Workshop Proceedings. Durham, NC, Divers Alert Network, 2015, 146 pp.