DASH DIET กินต้านโรคหัวใจ ลดความดันให้อยู่หมัด
การปล่อยให้ร่างกายมีความดันโลหิตสูงย่อมส่งผลเสียต่อหัวใจ เนื่องจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้คือแรงดันภายในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบและคลายตัว เมื่อความดันโลหิตสูงจึงส่งผลให้หัวใจต้องออกแรงหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ผลของแรงดันเลือดที่มาก ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดความเสื่อมและเกิดไขมันเกาะได้ง่ายยิ่งขึ้นเป็นผลให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้มีความเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบและส่งผลต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ดังนั้นการดูแลอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการกินแบบ DASH DIET (Dietary Approches to Stop Hypertension) ที่ออกแบบตามหลักโภชนาการ คืออีกทางเลือกที่ช่วยลดความดันโลหิตและป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจได้ในระยะยาว
รู้จักกับ DASH DIET
การรับประทานอาหารแบบ DASH DIET เป็นการรับประทานอาหารตามแนวทางโภชนาการ โดยเน้นการรับประทานอาหารร่วมกับการลดปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัว และเพิ่มการบริโภคใยอาหาร แมกนีเซียม โพแทสเซียม และแคลเซียมจากอาหาร เพื่อควบคุมความดันโลหิตและช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยมีรายงานผลการวิจัยที่พบว่า DASH DIET สามารถลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลรวมได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับอาหาร DASH DIET แต่มีไขมันสูง
หลักการ DASH DIET
หลักการรับประทานอาหารแบบ DASH DIET ได้แก่
- ลดอาหารที่มีเกลือโซเดียม รับประทานได้ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
- ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว
- รับประทานอาหารคอเลสเตอรอลต่ำ
- เน้นผักผลไม้
- เน้นธัญพืช ปลา ถั่วเปลือกแข็ง
- ดื่มนมไขมันต่ำ
- เลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล เครื่องดื่มรสหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลี่ยงผักผลไม้กระป๋องหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ
- ปริมาณแคลอรี่ตามความต้องการของร่างกายส่วนบุคคล ไม่เกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน
โปรแกรม DASH DIET ใน 1 วัน
ตัวอย่างอาหาร DASH DIET ใน 1 วันโดยปริมาณแคลอรี่ไม่เกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน มีสัดส่วนดังนี้
|
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) แนะนำให้รับประทานอาหารแบบ DASH DIET เพราะช่วยควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันเลว (LDL-C) สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือด สิ่งสำคัญนอกจากนี้คือ การเพิ่มการบริโภคปลาทะเลน้ำลึกจะช่วยเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยควบคุมระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและต้องไม่ลืมออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และตรวจเช็กสุขภาพปีละครั้ง เพื่อจะได้มีระดับความดันที่เหมาะสมและมีหัวใจที่แข็งแรง