หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
สาเหตุหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แต่ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันค่อนข้างมากจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมากจนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนัก ๆ กดทับตรงกลางหน้าอก หรือการเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย
- เจ็บแน่นจุกอกหรือจุกใต้ลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ ครั้งละไม่เกิน 20 นาที พอนั่งพักแล้วอาการจะหายไป
- หายใจหอบ เหนื่อย
- เหงื่อแตกใจสั่น
- หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น (Heart Attack)
ปัจจัยเสี่ยงคุมไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีดังนี้
- อายุ : โดยปกติแล้ว ความเสี่ยงของโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เพศ : ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน
ปัจจัยเสี่ยงควบคุมได้
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันได้ มีดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง : การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น หลอดเลือดตีบแข็งและอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
- การสูบบุหรี่ : ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 – 4 เท่า เนื่องจากสารที่อยู่ภายในบุหรี่จะทำให้เซลล์ที่เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อม ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ซึ่งนำไปสู่สภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ระดับไขมันในเลือด : ผู้ที่มีระดับไขมัน LDL คอเลสเตอรอลสูงจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น ไขมันดังกล่าวทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลเวียนน้อยลง ในที่สุดหลอดเลือดหัวใจก็อุดตันและเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- โรคเบาหวาน : ทำให้ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น เบาหวานทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ เสื่อมลง
- การขาดการออกกำลังกาย : ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ และยังช่วยควบคุมปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิต ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด เบาหวาน และน้ำหนักที่มากเกินหรืออ้วน
- ความอ้วน : ผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม / ส่วนสูง (เมตร)2 ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยสามารถคำนวณดัชนีมวลกายได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลัง 2 อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย แม้มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม / (เมตร)2 ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ได้รับความนิยม คือ การเปิดทางเดินเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ แบ่งออกเป็น
1. การขยายด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
2. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่รู้จักกันว่า “การทำบายพาส” แพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้ายและเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้าย หรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ
“กรณีแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัด ส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30 – 40 ปี อาจรักษาด้วยการทานยา จะช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียวก็ทานยาหรือใส่ขดลวดบอลลูนได้”
การทำผ่าตัดบายพาสโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในปัจจุบัน มี 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off – Pump CABG) หรือแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ แบบต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On Pump CABG) เพื่อหยุดการทำงานของหัวใจทั้งหมด
นอกจากนี้การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ทำให้ใช้ปริมาณเลือดน้อยลง ลดระยะเวลาการผ่าตัดและการดมยาสลบให้สั้นลง ตลอดจนระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดบายพาสหยุดหัวใจ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
- รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร
- รับประทานอาหารแต่พออิ่มและควรพักหลังอาหารประมาณ 1/2 – 1 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดีที่สุด คือ การเดิน เริ่มโดยเดินช้า ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังตนเอง
- ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน หาวิธีลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น ดูเกมการแข่งขันที่เร้าใจ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด
- งดดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนาน ๆ
- เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกให้หยุดกิจกรรมนั้น ๆ ทันที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ไว้วางใจกับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สิ่งสำคัญที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมุ่งเน้นในการรักษา คือ
- ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด รักษาด้วยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ ด้วยเครื่องมือมาตรฐานและทันสมัย
- ความพร้อมของทีมพยาบาลและทีมสนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
- เน้นการให้บริการและการดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในการรับบริการ
- 24/7 Heart Care Emergency Service