รับมือเมื่อ COVID-19 ลงปอด

รับมือเมื่อ COVID-19 ลงปอด
แชร์

ความรุนแรงของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะหากเชื้อไวรัส COVID-19 ลงปอดแล้วปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันเพื่อเตรียมรับมือให้ถูกวิธีหากต้องเผชิญกับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย


ความรุนแรงของเชื้อ
COVID-19 

เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงสูง โดยการทำงานของเชื้อโรคตัวนี้จะเริ่มจากการที่เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายแล้วเกาะในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ปอด หัวใจ หลอดเลือด ลำไส้ และหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต หลังจากนั้นเชื้อไวรัส COVID-19 จะแทรกซึมเข้าไปในเซลล์และเพิ่มจำนวนในเซลล์ เมื่อเพิ่มจำนวนถึงระดับหนึ่งจะทำลายเซลล์ แล้วแตกตัวออกมาเป็นไวรัสจำนวนมากเพื่อไปแทรกซึมในอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการทำลายเซลล์ที่เกิดขึ้นจะถูกกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งอวัยวะนั้น ๆ ได้รับความเสียหายและไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป ในกรณีของปอด เมื่อปอดถูกทำลายไปมากย่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ตามปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดของคนไข้ก็จะต่ำลง เนื้อปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ 


กลุ่มเสี่ยงเมื่อ COVID-19 ลงปอด

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีโรคอ้วน BMI มากกว่า 30
  • ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน

เชื้อ COVID-19 ลงปอด

เมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 แทรกซึมลงไปถึงปอดจะจับกับเซลล์ในปอดจำนวนมาก ทำลายเซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดโดยตรง ซึ่งการทำลายเซลล์จำนวนมากส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส COVID-19 และปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ผิดปกติในร่างกาย กระบวนการนี้ทำลายเนื้อปอดซ้ำซ้อน ทำให้เนื้อปอดแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาการรุนแรงขึ้นถ้าไม่รีบรักษา


รับมือเมื่อ COVID-19 ลงปอด

รักษา COVID-19 ช่วยปอด

การรักษาโรค COVID-19 เมื่อลงปอดทำได้ด้วยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัส หยุดยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มเติมและทำลายเซลล์ นอกจากนี้แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป

ในกรณีที่อาการหนัก เนื้อปอดบวมน้ำมาก เนื้อปอดเสียหายมาก แพทย์จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเนื้อปอด ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดสูงพอที่จะรักษาปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ แต่ในบางกรณีที่เครื่องช่วยหายใจไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ก็จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ซึ่งทำงานโดยนำเลือดจากร่างกายคนไข้มาฟอกแล้วเติมออกซิเจนเข้าไปก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของคนไข้อีกครั้ง ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับคนไข้


ดูแลปอดช่วง COVID-19 

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลปอดช่วง COVID-19 คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งทำได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด เลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com