หัวใจพิการแต่กำเนิด
รู้จักหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดจากความผิดปกติในขั้นตอนการสร้างอวัยวะตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา อุบัติการณ์โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือหัวใจรั่วโดยรวมประมาณร้อยละ 0.8 – 1 ของทารกแรกเกิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมากกว่าชาย 3 เท่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มที่เด็กตัวเขียว เกิดจากความผิดปกติ ทำให้มีเลือดดำไหลไปปนกับเลือดแดง ซึ่งปกติแล้วเลือดดำจะไม่ไหลไปปนกับเลือดแดง ทำให้เด็กมีสีออกเขียว ๆ ม่วงแดงอ่อน ๆ อาการค่อนข้างมาก เกือบทั้งหมดต้องผ่าตัดแก้ไข ซึ่งการเจริญเติบโตของเด็กพวกนี้จะน้อยกว่าปกติมาก เพราะเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ มีส่วนน้อยที่สามารถเจริญเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ได้
- กลุ่มไม่เขียว กลุ่มนี้มีหลายแบบด้วยกัน อาจเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ (พบน้อย) หรือผนังกั้นห้องหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่ว (พบบ่อย) ทำให้เลือดแดงไหลไปปนเลือดดำ กรณีเช่นนี้ไม่ทำให้เกิด “สีเขียว” แต่จะทำให้เลือดไปปอดมากเกินไปและหัวใจทำงานหนักมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดผลเสียต่อปอดและหัวใจในอนาคต อาจแบ่งชนิดที่พบบ่อย ๆ ได้เป็น
- รูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจด้านบน (Atrial Septal Defect : ASD)
- รูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่าง (Ventricular Septal Defect : VSD)
- เส้นเลือดแดงที่เกินผิดปกติระหว่างปอดและหัวใจ (Patent Ductus Arteriosus : PDA)
อาการของผู้ป่วย
- เหนื่อยง่าย
- โตช้า
- หายใจเร็ว
- บางรายอาจมีอาการในช่วงอายุ 20 – 30 ปี
รักษาด้วยการอุดรูรั่วหัวใจ
การรักษาโดยการอุดรูรั่วหัวใจทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าไม่มีเลือดไหลย้อนทาง โดยผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องกินยาละลายเกล็ดเลือดอีก 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดไปเกาะที่ร่มใยสังเคราะห์ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อดูผลการรักษา หลังจากนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
อุดรูรั่วหัวใจด้วยอุปกรณ์พิเศษ
การอุดรูรั่วหัวใจด้วยอุปกรณ์พิเศษเป็นเทคโนโลยีใหม่ สะดวก ไม่ต้องผ่าตัด อุปกรณ์สำหรับปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจจะมีร่มทำด้วยใยสังเคราะห์เป็นร่ม 2 ชั้น ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาแผลเป็น หลังจากปิดรูรั่วด้วยร่มแล้ว ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อออกมาคลุมภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ตามการอุดรูรั่วด้วยอุปกรณ์พิเศษไม่สามารถทดแทนการผ่าตัดได้ทั้งหมด สามารถทดแทนได้ประมาณ 75% ขึ้นอยู่กับขนาดรูรั่วในหัวใจ
ประโยชน์ของการรักษา
- หลีกเลี่ยงอัตราเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดเปิดหัวใจ
- ไม่มีรอยแผลผ่าตัดที่หน้าอก
- ลดความเจ็บปวดที่อาจเกิดจากการผ่าตัด
- ใช้เวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2 – 3 วัน
- ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้เร็วขึ้น
- ลดระยะเวลาพักฟื้นที่บ้านเหลือเพียง 2 – 3 วัน