โรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาได้ด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ

โรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาได้ด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
แชร์

โรคหลอดเลือดหัวใจอันตรายและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มักมีอาการเจ็บหน้าอกซ้ายหรือกลางหน้าอก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจโดยเร็ว ปัจจุบันสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยการสวนหัวใจโดยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว นอกจากนี้แพทย์อาจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหัวใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

 

โรคหลอดเลือดหัวใจคืออะไร

โรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มจากการเกาะของคราบไขมัน พังผืด หินปูน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ โดยอาการของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้ โดยเฉพาะในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น


ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง อาจจะตีบ ตัน หรือโป่ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สูบบุหรี่ ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจมากถึง 24% ซึ่งสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่นั้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อน
  • เบาหวานเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า
  • โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การไม่กินผักผลไม้
  • ภาวะเครียด
  • ฝุ่น PM 2.5

ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างไร

การตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจวิธีหนึ่งคือ การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีผ่านสายสวนตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Invasive Coronary Angiography) โดยอายุรแพทย์โรคหัวใจจะทำการใส่สายสวน (Catheter) ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนที่ได้เข้าไปในหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ สายสวนจะค่อย ๆ ถูกใส่และเคลื่อนไปตามหลอดเลือดเพื่อไปยังหัวใจ

โดยตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ทำกันแพร่หลายคือตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ขา (Femoral Artery) เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ขาเป็นหลอดเลือดแดงที่ใหญ่สามารถใส่สายสวนเข้าไปได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเท่าเข็มบริเวณขาหนีบ ทำให้หลังทำหัตถการผู้ป่วยจะต้องนอนราบ ห้ามงอขาข้างที่มีแผลเป็นเวลาค่อนข้างนานอยู่ที่ประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง ดังนั้นแพทย์โรคหัวใจจึงพยายามหาตำแหน่งของหลอดเลือดแดงตำแหน่งอื่น ซึ่งก็คือ หลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Radial Artery) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นกว่าการทำผ่านหลอดเลือดที่ขาหนีบ


เทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือเป็นอย่างไร

การทำหัตถการฉีดสารทึบรังสีผ่านสายสวนตรวจหลอดเลือดหัวใจ โดยการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ (Transradial Coronary Angiography) ช่วยทั้งในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยการขยายหลอดเลือดหัวใจได้โดยที่ไม่ต้องแทงเข็มใหม่ การใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือสามารถทำได้ทั้งข้อมือด้านซ้ายและด้านขวา แม้ว่าหลอดเลือดจะมีขนาดเล็กกว่าและมีทางเดินที่คดเคี้ยวกว่า แต่ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์การรักษาให้มีความเหมาะสม สามารถทำการตรวจและรักษาได้ใกล้เคียงกับการตรวจผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบจนกระทั่งปัจจุบันมีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อจำกัดในรายที่หลอดเลือดแดงที่ข้อมือมีขนาดเล็กหรือการทำหัตถการที่ต้องมีการใส่อุปกรณ์หลายอย่างหรือหัตถการที่มีความซับซ้อน

การปฏิบัติตัวหลังสวนหัวใจผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารเองได้ โดยปกติการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาเป็นหลัก ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากหรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือจะมีข้อดีกับผู้ป่วยมากกว่า แต่ในบางกรณีที่ต้องการรักษาหลอดเลือดแดงที่ข้อมือไว้ใช้ในการรักษาอื่น ๆ เช่น การฟอกไต (Hemodialysis) หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดใหม่ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบก็จะมีข้อดีมากกว่า

ปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจตีบผ่านทางสายสวนมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากทั้งในด้านการรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์วิธีการรักษาโรคหัวใจผ่านทางข้อมือก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใช้เวลานอนพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลงทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ามาพบแพทย์จะมีลักษณะของหลอดเลือดที่มีระดับความยากง่ายแตกต่างกันเช่นผู้ป่วยบางรายมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเพียงเส้นเดียวแต่มีการตีบหลายจุดหรือตีบหลายๆเส้นแบบนี้แพทย์จะต้องหาวิธีการในการรักษาที่ดีเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


ข้อดีของเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือคืออะไร

  • ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดจากการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ขา
  • ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลนาน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
  • มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) จากการใส่สายสวนน้อยกว่าแบบการสวนผ่านทางขาหนีบเนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กกว่าและอยู่ใกล้ผิวหนังมากกว่าทำให้ห้ามเลือดได้ดีกว่ามากซึ่งหากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบอาจจะต้องให้เลือดหรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองจนอาจต้องผ่าตัดซ่อมแซมและจะทำให้ผู้ป่วยงอขาหรือลุกเดินได้ช้า

วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล

การหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ถือเป็นจุดสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย กระบวนการสำคัญได้แก่

1) ตรวจวินิจฉัยวิเคราะห์ที่ถูกต้องชัดเจนโดยใช้การวัดความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือดหัวใจผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า QCA (Quantitative Coronary Analysis) ดูเปอร์เซ็นต์การตีบของเส้นเลือด ค่าสถิติต่าง ๆ มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเลือกรูปแบบการรักษาโดยถ้ามีการตีบที่รุนแรง 70% ขึ้นไป

2) ในรายที่การตีบของหลอดเลือดอยู่ระหว่าง 50% – 69% การใช้เครื่องมือช่วยวัดอัตราการไหลเวียนของเส้นเลือดหัวใจ (FFR: Fractional Flow Reserve) โดยการใส่สายไปที่เส้นเลือดหัวใจเพื่อบอกว่าส่วนที่ตีบส่วนนี้ควรจะต้องทำการรักษาหรือไม่ ทำให้รู้ค่าสัดส่วนความดันเลือดที่ตีบส่วนต้น (จุด a) กับส่วนปลาย (จุด b) เพื่อบอกอัตราการไหลเวียนสำรองของหลอดเลือดหัวใจว่าเพียงพอหรือไม่

ตัวอย่างคือถ้าค่า EFR < 0.8  บ่งชี้ว่ารอยตีบเป็นมากต้องได้รับการขยายหลอดเลือดในตำแหน่งที่ตีบ ทำให้เลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้นเป็นปกติ บางรายที่รอยโรคไม่มาก ไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยมีอาการหรือมีหลักฐานของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การตรวจวินิจฉัยอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 มาผสมผสานกัน เรียกว่า (QFR: Quantitative Flow Ratio)

3) แพทย์จะต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดตีบมากน้อยแค่ไหน ถ้าผู้ป่วยมีอาการตีบ 1 – 2 เส้น คะแนน Syntax (11 – 32) แพทย์จะทำการบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (Balloon Angioplasty) คือ ขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างมากขึ้นเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่หากผู้ป่วยมีตีบมากกว่า 2 – 3 เส้นขึ้นไป หรือคะแนน Syntax สูงมากกว่า 33 หรือจำเป็นต้องทำบอลลูนหัวใจใส่สเต็นท์ (Stent) คือ ทําบอลลูนหัวใจใส่ขดลวดหลายๆตัวต้องทำหลายครั้งแพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยปรึกษาให้ศัลยแพทย์ทรวงอกพิจารณาการผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจ


รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความซับซ้อนสูงอย่างไร

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมุ่งมั่นที่จะวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความซับซ้อนสูง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดหัวใจอุดตันเรื้อรัง เส้นเลือดหัวใจตีบบริเวณขั้วหัวใจ เส้นเลือดหัวใจตีบแบบมีหินปูนเกาะผนังหลอดเลือดจำนวนมาก เส้นเลือดตีบตรงทางแยก แบบนี้เป็นการรักษาที่ซับซ้อน ดังนั้นผลลัพธ์ในการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Stent Optimization โดยการวัดขนาดหลอดเลือดภาคตัดขวางด้วยสายสวน เพื่อให้การใส่ขดลวด (Stent) คือ ถ่างขยายหลอดเลือดเต็มที่ การตรวจคลื่นสะท้อนในหลอดเลือด (Coronary Intravascular Ultrasound) หรือการใส่สายสวนตรวจด้วยแสงที่มีความถี่สูง (Intracoronary Optical Coherence Tomography) เพื่อให้ได้ความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น และการใช้เครื่องกรอหัวเพชรร่วมกับการขยายบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน (Rotational Atherectomy and Coronary Stenting) และการใช้คลื่นหรือ Shock Wave สลายคราบหินปูน (Coronary Intravascular Lithotripsy หรือ Coronary IVL) ในรายที่มีหลอดเลือดตีบที่มีคราบหินปูนหนา โดยการตรวจรักษาจะใช้กระบวนการและแนวทางการรักษาตามมาตรฐานของอเมริกา American College of Cardiology (ACC) และ Society of Cardiac Angiography and Coronary Intervention (SCAI)


โรงพยาบาลรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

คลินิกรักษาหัวใจผ่านสายสวน โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาทุกความผิดปกติของหัวใจในทุกมิติ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ เรามีทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและทันสมัย ความพร้อมของทีมพยาบาลและทีมผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ เพื่อผ่าตัดรักษาหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด มุ่งเน้นการให้บริการและการดูแลเอาใจใส่เพื่อความพึงพอใจในการเข้ารับบริการ มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจฉีดสีสวนหัวใจขยายหลอดเลือด

แพ็กเกจฉีดสีสวนหัวใจ ราคาเริ่มต้นที่ 52,000 บาท

คลิกที่นี่

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com