หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest)
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ตามสถิติในประเทศไทยพบว่ามีการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจปีละประมาณ 50,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจหยุดเต้นตามมา ซึ่งจะพบได้ประมาณ 40% ของผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด กล่าวคือ ถ้ามีผู้ป่วย 100 คน จะมี 40 คนที่เสียชีวิตทันทีหลังจากมีอาการ เนื่องจากหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เกิดภาวะให้หัวใจหยุดเต้นหรือเต้นกระตุกและเสียชีวิตทันที โรคหัวใจอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งเป็นสาเหตุของหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในคนอายุน้อยและนักกีฬา โรคไหลตายซึ่งเกิดจากวงจรไฟฟ้าในหัวใจที่ผิดปกติ
สัญญาณเตือนบอกโรค
หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะมีอาการเตือน แต่ผู้ป่วยมักไม่ได้สังเกต เช่น
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- แน่นหน้าอกเวลาที่มีภาวะเครียดหรือเวลาออกแรง พักแล้วจะดีขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงโรค
ปัจจัยเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในคนอายุน้อย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ
- สูบบุหรี่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น
- มีประวัติการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง
ทำอย่างไรเมื่อแน่นหน้าอกรุนแรง
- ถ้ามีอาการมากให้โทรเรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรเรียก 1669
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการให้อมยาใต้ลิ้น ถ้า 1 เม็ดไม่ดีขึ้น ให้อมเม็ดที่ 2 ห่างจากเม็ดแรก 5 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจให้รีบไปโรงพยาบาล
- ถ้าไปโรงพยาบาลได้ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบรุนแรง หากพบว่าเป็นโรคแน่นอนจะทำการรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือทำการขยายบอลลูนต่อไปในเวลาที่รวดเร็ว
- หลังจากนั้นจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 – 5 วัน เพื่อปรับยาและรักษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุ
- ก่อนกลับบ้าน แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป
- ตรวจ ติดตามอาการ และกินยาต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะเป็นโรคที่ไม่หายขาด
ใส่ใจตรวจเช็กป้องกัน
- แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- ในรายที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ให้ไปรับการตรวจและรับคำปรึกษาโดยอายุรแพทย์หัวใจ
- ควบคุม รักษา และป้องกันปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง คุมระดับความดันให้อยู่ประมาณ 130/80 หรือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- โรคเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือด ในระยะเฉียบพลันไม่ให้เกิน 170 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรและในระยะยาวต้องคุมให้ระดับอยู่ระหว่าง 110 – 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ไขมันสูง คุมระดับ LDL ให้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- บุหรี่ ให้งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
- ไม่รับประทานผักผลไม้ แนะนำให้รับประทานผักผลไม้ทุกวัน
- ไม่ออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที
- นอนหลับพักผ่อนน้อย แนะนำให้นอนหลับวันละ 6 – 8 ชั่วโมง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
ตรวจความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจสำหรับผู้ที่อายุเกิน 40 ปีหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินบนลู่วิ่ง (Exercise Treadmill Stress Test) ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง (Echocardiography) ระหว่างการเดินสายพานบนลู่วิ่ง (Echo Stress Test) ตรวจวัดปริมาณหินปูนหรือแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ ถ้ามีหลักฐานหรือข้อสงสัยว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดควรได้รับการตรวจหลอดเลือดแดงหัวใจโดยการฉีดสีและเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อสแกนตรวจหลอดเลือด (Computerized Coronary Angiography) หรือตรวจหลอดเลือดแดงหัวใจโดยการฉีดสีผ่านสายสวนบริเวณหลอดเลือดที่ขาหนีบหรือข้อมือ - การตรวจสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปีที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจรวมทั้งการตรวจ Holter EKG เพื่อวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูงหรือ Echocardiography เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิด
3 ขั้นตอนเมื่อพบเห็นผู้ที่มีหัวใจหยุดเต้น
- ร้องขอความช่วยเหลือว่ามีใครที่สามารถทำการช่วยฟื้นคืนชีพได้บ้าง
- ผู้ที่มีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นหรือมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) อยู่ให้รีบทำการช่วยชีวิตก่อน เพราะพบว่ามีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
- เรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือเรียก 1669