กัญชา คาเฟอีน ทำเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะกัญชา คาเฟอีน หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ใช้ได้ถูกต้องไม่เป็นอันตรายต่อหัวใจและร่างกาย
ทำไมหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจและการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจร่วมกัน ส่งผลให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ คือ มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เต้น ๆ หยุด ๆ ซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจหากหัวใจเต้นผิดจังหวะอาการและความรุนแรงจะมากกว่าต้องรีบตรวจรักษาทันที
ปัจจัยเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปัจจัยภายนอกหัวใจและหลอดเลือด อาทิ ภาวะติดเชื้อ มีไข้สูง, ภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง เสียเลือดมาก, พักผ่อนไม่เพียงพอ, ภาวะเครียด, ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์, ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ, รับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ยาลดน้ำมูก, เสพกัญชาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม, ดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- ปัจจัยภายในหัวใจและหลอดเลือด อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ, โรคลิ้นหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ, ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นต้น
กัญชากับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดกัญชาเสรี ทำให้กัญชาถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งสารสกัดจากกัญชามี 2 ชนิดหลัก ได้แก่ THC มีส่วนช่วยในการนอนหลับ การเบื่ออาหาร การปวดเรื้อรัง แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะส่งผลต่อสมอง ทำให้เกิดความมึนเมาได้ และ CBD ช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและเป็นสารต้านฤทธิ์เมาของ THC
ผลข้างเคียงของการใช้กัญชาคือ หากใช้ปริมาณมากเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อนแล้วสารในกัญชาจะกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กัญชาเพราะโรคประจำตัวในแต่ละบุคคลมีความซับซ้อนและอาจต้องใช้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกันหากใช้กัญชาอาจมีผลกับยาอื่นที่กำลังใช้อยู่ได้
กัญชาใช้อย่างไรให้เหมาะสม
- หากนำมาใช้ปรุงอาหารสามารถใช้ได้ 1 – 2 ใบต่อเมนู และไม่ควรเกิน 4 ใบต่อวัน
- ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
- ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร
- แม้กัญชาจะสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบ แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินและดูแลโดยแพทย์เท่านั้น
- หลังใช้กัญชาไปแล้ว 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักร เพราะจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ซึม มึนงง ง่วงนอน ประมาณ 3 – 4 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ หูแว่ว เห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ทันที
- การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ยาต้องใช้เมื่อมีอาการและเหมาะกับอาการเจ็บป่วย ส่วนผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพรจะใช้เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนใช้งาน และห้ามนำช่อดอกมาใช้ด้วยตนเอง
คาเฟอีนกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
คาเฟอีนช่วยให้ร่างกายตื่นตัวจึงได้รับความนิยมอย่างมาก แต่หากใช้คาเฟอีนมากเกินไปจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เพราะกระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลีนที่ส่งผลให้หัวใจบีบตัวแรงและเร็วขึ้น มีอาการใจสั่น หงุดหงิด กระวนกระวายใจ หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้
การบริโภคคาเฟอีนที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันเทียบเท่ากาแฟ 3 – 4 ถ้วยต่อวัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารชนิดอื่นที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วยในแต่ละวัน
ตัวอย่างคาเฟอีนในเครื่องดื่มแต่ละประเภท
- กาแฟ 1 ถ้วย ระดับคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม
- น้ำชา 1 ถ้วย ระดับคาเฟอีน 75 มิลลิกรัม
- โค้ก 1 กระป๋อง ระดับคาเฟอีน 40 มิลลิกรัม
- เครื่องดื่มชูกำลัง 1 กระป๋อง (250 ซีซี) ระดับคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม
ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีหลายวิธี ได้แก่ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (12 – Lead Electrocardiography ECG, EKG) เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24 – 48 ชั่วโมง (Holter Monitoring) เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา (Event Recorder) เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable Loop Recorder, ILR) การตรวจวัดสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน (EST), การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Electrocardiogram) และการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study)
รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
วิธีการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเป็นสำคัญ ได้แก่ การใช้ยาเพื่อควบคุมจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ การช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (RFCA) การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวร (AICD) และการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและช่วยการบีบตัวของหัวใจ (CRT)
ป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30 – 45 นาทีต่อวัน 3 – 5 วันต่อสัปดาห์
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ไม่เครียดจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวควรตรวจติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
หากมีอาการหน้ามืด ใจสั่นผิดปกติ วูบ ๆ หวิว ๆ คล้ายตกหลุมอากาศ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง เป็นลมหมดสติอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้ตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็ว เพราะหากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วปล่อยทิ้งไว้ หัวใจจะโตขึ้น การบีบตัวของหัวใจจะอ่อนกำลังลง เพิ่มโอกาสในการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ง่าย ยิ่งในผู้สูงวัยอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ดังนั้นหากรู้เร็วรักษาเร็วย่อมช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้สำเร็จ